ธปท.แนะดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ควรทำเฉพาะกลุ่ม ประหยัดงบฯ-รักษาเสถียรภาพคลัง

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท.เผยหลังหารือร่วมนายกฯ มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคำนึงถึง “เสถียรภาพ” การคลัง กำหนดกรอบระยะปานกลางให้ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น แนะนโยบายดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท เน้นทำเฉพาะเจาะจง เหตุทุกคนไม่ได้ต้องการทั้งหมด ชี้ช่วยประหยัดงบฯ ส่วนรูปแบบยังไม่ชัด ยันไม่ใช่ CBDC แน่นอน

วันที่ 14 กันยายน 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายหลังจากมีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั้น ธปท.ได้มีการพูดถึงข้อกังวลต่าง ๆ ในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ซึ่ง ธปท.เคยสื่อสารว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตอนนี้ฟื้นตัวช้ากว่าที่อื่น แต่ยังอยู่ในภาพการฟื้นตัว โจทย์ของนโยบาย คือ การเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) ทั้งในฝั่งการเงินและการคลัง

โดยยังคงให้ความสำคัญกับ “เสถียรภาพ” เนื่องจากหลายคนจับตาดูอยู่ ซึ่งเสถียรภาพฝั่งการคลังต้องมี ซึ่งจะเห็นจากตัวอย่างของประเทศสหรัฐ ที่ไม่ได้ใส่ใจเพียงพอในเรื่องการคลัง จึงโดน Down Grade ดังนั้น เรื่องเสถียรภาพจึงเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งไม่เฉพาะเสถียรภาพด้านการคลัง แต่ยังรวมถึงเสถียรภาพในด้านอื่น ทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพราคา และเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ดำเนินการมาโดยตลอด

“ธปท.ก็ได้มีการแชร์ข้อกังวลต่าง ๆ ให้ท่านนายกฯรับฟัง แต่สุดท้ายการดำเนินนโยบายจะเป็นอย่างไรก็เป็นฝั่งการคลัง เพราะเรามีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่หากดูโจทย์ตอนนี้และการทำมาตรการต่าง ๆ จะต้องไม่ทำลายหรือกระทบเสถียรภาพจนเกินไป หรือสร้างผลข้างเคียงให้กับระบบ”

Advertisment

สำหรับนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ตอนนี้รูปแบบในการออกมายังไม่มีความชัดเจน แต่หากถามถึงข้อกังวล คือ

1.บริบทเศรษฐกิจตัวเลขโดยรวมออกมาไม่สวย โดยไตรมาสที่ 2/2566 ออกมา 1.8% ต่ำกว่าคาด ซึ่งหากดูที่มาของการเติบโตจะเห็นว่าการบริโภคยังขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่ 1 และ 2/2566 แต่ตัวที่ขาดไม่ใช่การบริโภค แต่เป็นตัวอื่น เช่น การลงทุนที่ไทยไม่ได้มีการลงทุนมานาน ดังนั้น ภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจตอนนี้การกระตุ้นการบริโภคเทียบการลงทุนจะสำคัญกว่า

2.การทำควรทำแบบกำหนดเป้าหมายเฉพาะเจาะจง (Targeted) น่าจะช่วยประหยัดงบประมาณ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการ (Need) เงิน 1 หมื่นบาท และ 3.เรื่องเสถียรภาพ โดยการทำนโยบายต่าง ๆ จะต้องฉายภาพระยะปานกลางว่า หากทำแบบนี้ จะมีผลต่อภาพขาดดุลงบประมาณอย่างไร หรือฐานะการคลังในมิติต่าง ๆ จะอยู่ในกรอบอย่างไร

ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นได้ เพราะหากย้อนดูกรณีประเทศอังกฤษที่มีการประกาศเรื่องภาษี แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องของงบประมาณ ทำให้เกิดปัญหาทางด้านขาดความเชื่อมั่น ดังนั้น นโยบายจำเป็นต้องฉายภาพฐานะการคลังในระยะปานกลาง

Advertisment

“ผลต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออกมา แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งบางคนบอกว่าจะเป็นรูปแบบ e-Money ซึ่งก็เป็นรูปแบบปัจจุบัน จะมีผลต่อเงินเฟ้อและผลต่อฐานะการคลัง และหากเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล จะเห็นว่า ธปท.ไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือ Means of Payment

และขอยืนยันว่า CBDC ไม่สามารถใช้กับนโยบายนี้ เพราะเป็นโปรเจ็กต์การเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นโปรเจ็กต์ที่จะนำมาใช้ และยังไม่พร้อมใช้ในวงเงินจำนวนมากได้ ดังนั้น ภาพรวมผลจะเป็นเรื่องของในฝั่งการกระตุ้น และงบประมาณการคลังที่นำมาใช้ อย่างไรก็ดี ส่วนการดูแลสภาพคล่องในระบบ เป็นเรื่องที่ ธปท.ต้องดูแลอยู่แล้ว“