ธปท.ย้ำมาตรการพักหนี้ไม่ควรทำวงกว้าง ห่วงมีโอกาสหนี้เสียสูง แนะใช้ชั่วคราวเฉพาะกลุ่ม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท.เผยมาตรการพักหนี้ควรใช้แบบชั่วคราว-ไม่ทำวงกว้าง เหตุมีผลข้างเคียงเยอะ ระบุตัวเลขลูกหนี้ 70% พักหนี้กลายเป็นหนี้มากกว่าเดิม ด้านนโยบายการเงิน ปรับเข้าสู่ “Neutral Rate” ห่วงเอลนีโญ-ราคาพลังงานโลกสูง-ท่องเที่ยว หนุนเงินเฟ้อทยอยปรับขึ้น

วันที่ 14 กันยายน 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการพักหนี้เกษตร มองว่าขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะทำ ซึ่งเรื่องของการพักหนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ ธปท.ยังคงมุมมองเดิมว่า ควรเป็นในเครื่องมือที่มีไว้ แต่ไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะใช้ และไม่คิดว่าการพักหนี้อย่างเป็นวงกว้างจะเหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอความเป็นห่วงเรื่องนี้กับทางรัฐบาลไปแล้ว

ทั้งนี้ เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการพักหนี้ในวงกว้าง เนื่องจากเป็นมาตรการที่เหมาะกับการทำชั่วคราว และบางกลุ่ม เช่น ในช่วงโควิด-19 ที่มีคนถูกกระทบในวงกว้างก็เหมาะที่จะใช้มาตรการพักหนี้ และหลังจากนั้นก็พยายามถอยเพราะการพักหนี้นานไปไม่ดี พักหนี้เหมาะกับคนที่มีศักยภาพอยู่แล้วแต่เจอสถานการณ์ชั่วคราวแล้วมีปัญหา บางคนหากพักแล้วเมื่อกลับมาได้ก็เหมาะ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนเหมาะกับการพักหนี้ เพราะมีผลข้างเคียงเยอะ

เช่น หนี้เกษตรกร บางกลุ่มมีศักยภาพก็ต้องหาวิธีที่จะปิดจบหนี้ให้ได้ แต่อาจมีบางกลุ่มก็อาจจะเหมาะ หนี้เกษตรบางกลุ่มที่มีไม่น้อยเป็นหนี้เรื้อรังปิดจบยาก อายุเยอะแล้วยังปิดไม่ได้ กลุ่มนี้พักไปก็ไม่สามารถช่วยได้ทำให้จบหนี้ยาก ซึ่ง ธปท.พยายามส่งเสริมให้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) รวมถึงการแก้หนี้เรื้อรัง เพื่อให้คนจบหนี้ได้

“มาตรการพักหนี้ไม่เหมาะนำมาใช้ในวงกว้าง เพราะจะมีผลข้างเคียงเยอะ ซึ่งหากดูข้อมูลจะพบว่าถูกนำมาใช้ 14 ครั้งในรอบ 8 ปีผลที่ออกมาก็ค่อนข้างชัดว่าไม่ได้ดีขนาดนั้น มีลูกหนี้ 70% ที่พักหนี้กลายเป็นมีหนี้มากกว่าเดิม คนที่เข้าโครงการพักหนี้มีโอกาสเป็นเอ็นพีแอลสูงก็มีค่อนข้างเยอะ การพักหนี้เป็นเครื่องมือที่อยู่ในกล่องเครื่องมือของเรา แต่ไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะใช้ และไม่ควรใช้ในวงกว้าง สิ่งที่อยากทำคืออยากแก้ปัญหาหนี้ให้จบ การพักหนี้อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาให้พวกเขา”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า แนวโน้มนโยบายการเงินจะต้องนิ่งและมองไปข้างหน้า ซึ่งหากดู Outlook เงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นก็ตาม เพราะยังมีความเสี่ยงเรื่องของราคาพลังงานโลกที่จะเพิ่มขึ้น และสิ่งที่ ธปท.ห่วง คือ เอลนีโญที่จะมีผลต่อราคาอาหารที่มีผลต่อตะกร้าเงินเฟ้อสูง และอุปสงค์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อน่าปรับเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจระยะยาว หรือเรียกว่า Neutral Rate ซึ่งเป็นระดับที่เงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% และไม่เป็นอุปสรรคในการเกิดการแสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) และสิ่งที่เน้นคือโจทย์เดิม คือ การปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) จากเดิมเป็น Smooth take off เป็น Landing

“ที่ผ่านมา ธปท.ให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งตอนนั้นตัวเลขพีก 7.9% และค่อย ๆ ทยอยปรับลดลงมา ทำให้เราได้ทยอยใส่ปัจจัยอื่นเข้าไปเพิ่มในการพิจารณา แต่โจทย์ยังคงเป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ราคา และระบบการเงิน”