บี้แบงก์ลดดอกเบี้ยกู้ “อภิศักดิ์” เขย่า ธปท.ช่วยเอสเอ็มอี

รมว.คลังเขย่า ธปท. บี้แบงก์พาณิชย์ “ลดดอกเบี้ยกู้” ชี้สเปรดห่างมาก ธุรกิจใหญ่ได้สิทธิพิเศษดอกเบี้ยเงินกู้แค่ 1-2% ธุรกิจรายเล็กถูกโขกดอกเบี้ย 6-7% ทำให้ธุรกิจรายเล็กแข่งขันไม่ได้ “ต้นทุนเงินสูง” ส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยนโยบายพยุงเศรษฐกิจกระจายลงรากหญ้า โอดร่างกฎหมาย “ภาษีลาภลอย” ถูกเตะถ่วงรอเข้า ครม.มา 2 เดือน เผยยิ่งช้าเม็ดเงินภาษีหดหาย เหตุราคาที่ดิน-อสังหาฯพุ่งไปไกล

ชี้แบงก์ต้องปรับตัวมากกว่านี้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพการปรับตัวของอุตสาหกรรมแบงก์ในช่วงสัปดาห์ที่มีการแข่งยกเลิกค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การให้บริการบนช่องทางดิจิทัล ถือว่าแบงก์เริ่มปรับตัว ซึ่งก็เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังริเริ่มเรื่องเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ ที่เปิดบริการพร้อมเพย์ ก็เป็นแนวทางเพื่อให้แบงก์เลิกคิดค่าธรรมเนียมและปรับตัว เพราะหากแบงก์ไม่ปรับตัวก็จะแข่งกับน็อนแบงก์ไม่ได้ ซึ่งตอนนี้มีทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เข้ามา ซึ่งแบงก์ต้องปรับตัวดึงฐานลูกค้าไว้ เพราะถ้าลูกค้าหายไปการจะดึงกลับมายาก

“จริง ๆ ก็มีการคุยกันมานานเรื่องให้เลิกเก็บค่าฟี แต่ที่ผ่านมาแบงก์บอกว่าไม่ได้ จนเริ่มพร้อมเพย์ก็มีการคุยกันว่า ไม่ควรค่าคิดฟี เพราะโครงสร้างพื้นฐานใหม่ช่วยให้แบงก์มีต้นทุนต่ำลง ซึ่งที่สุดแบงก์ก็ตัดสินใจยกเลิกค่าฟี เพราะไม่เช่นนั้นก็จะถูกน็อนแบงก์แย่งลูกค้า ซึ่งแบงก์ยังสามารถเก็บค่าฟีอื่น ๆ ได้อีกมาก การให้บริการหมู ๆ แบบนี้ต้องไม่เก็บค่าธรรมเนียม ไปทำอะไรที่ยาก ๆ ดีกว่า เช่น ค่าที่ปรึกษาสินเชื่อ ค่าฟีจากอินเวสต์เมนต์แบงก์”

เมื่อแบงก์ใหญ่เริ่มต้น ในที่สุดแบงก์เล็กและแบงก์รัฐทั้งหลายก็ต้องไปเหมือนกัน ไม่งั้นลูกค้าหายหมด ขณะที่แพลตฟอร์มจากต่างประเทศอย่าง อาลีเพย์ วีแชทเพย์ กำลังบูมมาก ทำหน้าที่เหมือนแบงก์ จ่ายเงิน ถอนเงิน ซื้อสินค้า ดังนั้นหากแบงก์ไม่เปลี่ยนตัวเอง พวกนี้ก็จะเข้ามาแย่งลูกค้า

Advertisment

เขย่าแบงก์ลด “ดอกเบี้ยกู้”

นายอภิศักดิ์กล่าวต่อว่า เรื่องค่าธรรมเนียมที่แบงก์ยกเลิกเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าแบงก์ก็เสียรายได้บางส่วน แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยให้แบงก์สามารถต่อยอดธุรกรรมอื่น ๆ กับลูกค้าได้ แต่ด้านดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ปัจจุบันยังสูงมาก เห็นชัดว่าสเปรดค่อนข้างสูง เพราะหากดูดอกเบี้ยเงินฝากเทียบ MRR (ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย) /MLR (ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่) ส่วนต่างสูงมาก โดย MRR-MLR เฉลี่ย 6-7% แต่เงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่เพียง 0.50%

“ขณะที่แบงก์ก็จะบอกว่าดอกเบี้ยกู้โดยเฉลี่ยของแบงก์อยู่ที่ 2-3% แก็ปนิดเดียว ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นแบบนั้น เพราะแบงก์ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายใหญ่ถูกมาก บางราย 1% กว่าเท่านั้น เพราะทุกแบงก์แย่งกันปล่อย ขณะที่ลูกค้ารายเล็กก็ชาร์จเต็มแม็ก ผลที่เกิดขึ้นก็คือความเหลื่อมล้ำ ธุรกิจรายเล็กจะแข่งกับธุรกิจใหญ่ได้อย่างไร เมื่อสถาบันการเงินเดินด้วยวิธีแบบนี้ นี่คือเหตุผลทำไมธุรกิจรายใหญ่วันนี้เติบโตดี เพราะได้เปรียบ แต่รายเล็กรายกลางไปไม่ค่อยได้ เพราะต้นทุนเงินกู้แพง”

Advertisment

รมว.คลังกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องฝากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ไปจัดการ ปล่อยให้แก็ปเป็นอย่างนี้ได้ยังไง ช่วงปีก่อนตนพูดเรื่องนี้ไป แบงก์ก็ลดดอกเบี้ยให้นิดหนึ่ง (0.25%) แต่ก็ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาเพราะสเปรดห่างมาก และรัฐบาลก็จัดซอฟต์โลน 4% ให้แบงก์รัฐปล่อยกู้เอสเอ็มอี เพราะรายใหญ่ได้ดอกเบี้ย 2% เอสเอ็มอีได้สัก 4% ก็ถือว่าพอทน แต่นี่คือต้นทุนของรัฐที่ต้องจัดซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยดอกเบี้ยถูกลง ต้องใช้งบประมาณรัฐ แทนที่จะเดินนโยบายการเงิน ให้แบงก์พาณิชย์ต้องดูแลธุรกิจรายเล็กรายน้อย อย่าให้แก็ปสูงเกินไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลแบงก์พาณิชย์ต้องไปบริหารจัดการ

สั่งแบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ยดูแล ศก.

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เอกฉันท์ในการประชุมรอบที่ผ่านมา โดยมี 1 เสียงเสนอให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นก็ต้องยอมรับว่า ความคิดเห็นสามารถแตกต่างได้ แต่สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะต้องเดินตามนโยบายของรัฐในการดูแลเศรษฐกิจโดยรวม คือยังไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะต้องตรึงไปตลอดปี

“นโยบายคือเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระจายไปทั่ว แทนที่จะยังกระจุกอยู่ พอเศรษฐกิจขยายตัวแล้ว ความมั่งคั่งทั้งหลายก็จะขยายไปสู่เศรษฐกิจระดับล่างด้วย สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำขณะนี้คือ พยายามผลักให้มันลงไปให้เร็วที่สุด ก็หวังว่าทุกอย่างจะเข้ารูปเข้าร่าง” นายอภิศักดิ์กล่าว

เรื่องดอกเบี้ยนโยบาย ตอนนี้ก็ไม่ใช่เวลาที่จะลดดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องดูหลายปัจจัย ไม่ใช่มองแค่ว่าคนอื่น ๆ ขึ้นแล้วต้องขึ้น เพราะการที่คงดอกเบี้ยต่ำทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น การที่ปรับดอกเบี้ยขึ้น การขยายตัวเศรษฐกิจก็จะลดลง สองหากขยับดอกเบี้ย เงินเฟ้อก็จะต่ำลง เพราะคนจะบริโภคน้อยลง และเงินเฟ้อประเทศไทยตกเป้ามา 3 ปีแล้ว ไม่เคยเข้ากรอบ จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อเข้ากรอบอีกหรือ

สั่งคืนหนี้ ตปท.พยุงค่าบาท

“นอกจากนี้ดอกเบี้ยสูงจะทำให้เงินไหลเข้า คำถามคือวันนี้ที่ดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% เงินก็ยังไหลเข้าอยู่เลย แล้วถ้าขยับขึ้น ดอกเบี้ยเป็น 1.75% เพื่อให้เงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นหรือ ซึ่งเงินไหลเข้ามากขึ้น ค่าเงินก็แข็งค่า ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าอันดับ 2-3 หากขึ้นดอกเบี้ยก็อาจทำให้บาทแข็งค่าอันดับหนึ่ง เราอยากเห็นอย่างนั้นหรือ”

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้คลังพยายามช่วยทุกเรื่อง ทั้งจ่ายหนี้ต่างประเทศคืนล่วงหน้า เพื่อให้เงินไหลออก ตอนนี้หนี้ต่างประเทศเหลือเพียง 4% ของหนี้ประเทศทั้งหมด และภายในปีนี้ก็จะจ่ายอีกหลายหมื่นล้าน เพื่อลดแรงกดดันค่าเงิน ทั้งสั่งรัฐวิสาหกิจซื้อสินค้านำเข้าล่วงหน้า เพื่อให้มีการจ่ายเงินออก เพราะตอนนี้เงินถูก ต้นทุนถูก รีบซื้อมาก่อน ซึ่งนโยบายนี้ทำมาเป็นปีแล้ว ไม่เช่นนั้นบาทแข็งค่ากว่านี้เยอะ

ลุ้นปีนี้จีดีพีโต 5%

รมว.คลังกล่าวต่อว่า ในแง่เศรษฐกิจภาพรวม ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้โต 4.2% ซึ่งก็อยากให้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตอนนี้ 4% แล้วต่อไปก็อยากเห็น 5% เพราะหากโตได้ 5% ความมั่งคั่งจะดี ซึ่งด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่เติมลงไปก็มีโอกาสที่ปีนี้จะได้เห็นเศรษฐกิจโต 5% เพราะตอนนี้ทิศทางเริ่มดี เอกชนเริ่มลงทุนมากขึ้น และโรงงานใหญ่ใน EEC ก็เริ่มมา

กรณีปัญหาการกีดกันทางการค้าที่อาจกระทบต่อการส่งออก นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ความเสี่ยงเก่า ๆ เริ่มหายไป มีแต่ความเสี่ยงใหม่ เช่น สงครามทางการค้า แต่หากเทียบกับความเสี่ยงเดิม เช่น ความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นมั้ย ยุโรปจะเจ๊งหรือเปล่า ปัจจัยเหล่านี้หมดไปแล้ว ความเสี่ยงถดถอยไม่มีแล้ว ยุโรปปัญหาแก้หมดแล้ว จีนก็พิสูจน์ให้เห็นว่าโมเดลที่เปลี่ยนการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นนโยบายที่ถูกต้อง แต่หากเกิดสงครามการค้าก็ต้องกระทบแน่ เพราะการค้าโลกจะลดลง จะทำให้ทุกอย่างสโลว์ดาวน์ แต่คิดว่าอันนี้เป็นเกม คงไม่มีใครอยากฆ่าตัวตาย และถ้าสงครามการค้าเกิดขึ้นไทยกระทบแน่ แต่ไม่กระทบเท่าประเทศใหญ่ ๆ

หยุดมาตรการภาษีช็อปปิ้ง

นายอภิศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นจับจ่ายปีนี้คงไม่มีแล้ว เพราะล่าสุดการจัดเก็บภาษี VAT ก็โตขึ้นมา 7% สะท้อนกำลังซื้อดีแล้ว และมาตรการภาษีช็อปปิ้งถ้าออกทุกปี ผู้บริโภคก็จะไม่ซื้อ รอมาตรการ แต่ปีนี้ก็มาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเมืองรอง ที่คลังทำไม่ใช่หวังแค่การท่องเที่ยว แต่มองว่าจะเป็นการช่วยกระจายเงินสู่ท้องถิ่นเพื่อลดการเหลื่อมล้ำด้วย

ขณะที่รัฐบาลก็ใช้นโยบายการคลังเติมเงินช่วยเหลือ ให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งก็ยังต้องดำเนินต่อไป ต้องทำไปจนกว่าเขาจะเข้มแข็งให้พ้นความยากจน

กม.ภาษีหลายตัวรอเข้า ครม.

รมว.คลังกล่าวว่า ตอนนี้มีการเสนอร่างกฎหมายภาษีหลายตัวที่รอเข้า ครม. เช่น ภาษีกองทุนตราสารหนี้ ภาษีลาภลอย ก็รอเข้า ครม.มา 2 เดือนแล้ว ซึ่งในส่วนของภาษีลาภลอย ยิ่งช้าก็ยิ่งเก็บได้น้อย เพราะหลักการของภาษีลาภลอย คือ เก็บภาษีจากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยจะนับจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ กระทั่งมีการขายเปลี่ยนมือ หากมีกำไรเพิ่มจากการมีรถไฟฟ้าผ่านก็ต้องเสียภาษีส่วนต่าง

“แต่เมื่อกฎหมายออกมาช้า ราคาที่ดินอสังหาฯก็ขึ้นไปเยอะแล้ว โอกาสเก็บภาษีก็ได้นิดเดียว ถ้าออกมาตั้งแต่หลายเดือนก่อน ราคายังขึ้นไม่มาก ก็จะได้ภาษีก้อนใหญ่ แต่ตอนนี้เหลือจิ๊บจ๊อย เพราะที่ดินพื้นที่ EEC ก็วิ่งไปกันหมดแล้ว เพราะกฎหมายตัวนี้คิดตั้งแต่ยังไม่มีรถไฟฟ้าสีเขียว สีส้ม จนกระทั่งแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานออกมาหมดแล้ว กฎหมายก็ยังไม่ผ่าน”

ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯก็ถูกปรับแก้ไขร่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว และวนเวียนอยู่ในสภามาปีกว่าแล้ว ล่าสุดก็มีการต่ออายุอีก 2 เดือน ก็ยังหวังว่าจะผ่านและทันบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562

บี้อีคอมเมิร์ซช่วยเก็บภาษีผู้ค้า

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) นายอภิศักดิ์กล่าวว่า กฎหมายภาษีอีบิสซิเนส เป้าหมายก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะถ้าไม่ทำอะไร ร้านค้าดั้งเดิมจะเกิดปัญหา เพราะร้านค้าขายของเสีย VAT 7% แต่ร้านออนไลน์ไม่ได้เสีย การแข่งขันก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียม ผู้ค้าออนไลน์ไม่มีร้านค้า ไม่มีต้นทุน แถมไม่เสียภาษีอีก ถ้าทิ้งไว้ ร้านค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็เจ๊งหมด

รมว.คลังกล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่กำหนดให้ต้องทำประชาพิจารณ์บนเว็บไซต์ การยกร่างกฎหมายเก็บภาษีก็มีข้อร้องเรียนไม่เห็นด้วยมากมาย ก็ต้องมาปรับแก้ไข และต้องโพสต์รับฟังใหม่ก็มีประเด็นโวยขึ้นมาอีก ก็ต้องมาแก้ใหม่อีก ซึ่งก็ต้องชี้แจงว่าต้องมีการเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะนี่เป็นการแก้ปัญหาให้อีกคนที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการเร่งให้กรมสรรพากรเสนอร่างขึ้นมา

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีร้านค้าออนไลน์ ก็ต้องมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ร้านค้ามาขึ้นทะเบียน และจะออกข้อบังคับให้แพลตฟอร์มที่เป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ หรืออีมาร์เก็ตเพลส อย่างเช่น ลาซาด้า ทำหน้าที่เป็นคนเก็บภาษีมาส่งให้ เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้จะมีข้อมูลชัดเจนว่า ผู้ค้าออนไลน์เป็นใคร มียอดขายเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ภาษีอีบิสซิเนสก็จะเป็นการจัดเก็บภาษีกับแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่าง เฟซบุ๊ก กูเกิล ที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย ก็กำหนดว่าต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งขณะนี้หลายประเทศทั้งยุโรป มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็เริ่มจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แต่ถ้ามีกิจกรรมให้บริการเกิดขึ้นในประเทศไทยก็ต้องเสียภาษี

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”