ยักษ์ประกันแก้เกมยอดขายรถโตชะลอ

motor

ประกันภัยรถปีนี้แผ่วตามยอดขายรถยนต์ใหม่ “กรุงเทพประกันภัย” ชี้พอร์ตประกันรถอีวีโตสวนภาพรวมตลาด ระบุยังต้องรับประกันอย่างระมัดระวัง ฟาก “วิริยะ” ปักธงลุยงาน “แคร์ริเออร์” ตอกย้ำเจ้าตลาดขนส่งทางบก กุมพอร์ตใหญ่ “ซี.พี.” ขนส่งสินค้าร้านเซเว่นฯ

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ภาพรวมเบี้ยทั้งอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย เติบโต 6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยประมาณการทั้งปี 2566 น่าจะเติบโตได้ 5-5.5% ตามที่คาดไว้

โดยพอร์ตประกันรถยนต์ ซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่สุดของเบี้ยทั้งระบบ สัดส่วนกว่า 60% คงไม่โต เป็นไปตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอ และอาจไม่เติบโต อย่างไรก็ตาม ประกันรถอีวียังโตได้ตามยอดขายรถรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยประมาณการจนถึงสิ้นปีนี้ คาดจะมีรถอีวีจดทะเบียนใหม่เพิ่มอีก 70,000-80,000 คัน จากปีที่แล้วมีอยู่ 9,700 คัน ถือว่าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

“อย่างไรก็ดี ประกันรถอีวี ธุรกิจประกันภัย ยังมองว่ามีความเปราะบาง แม้ตอนนี้อัตราความเสียหาย (loss ratio) โดยรวมจะค่อนข้างต่ำ อยู่ที่กว่า 50% เนื่องจากรถอีวีที่ใช้ในประเทศไทยยังถูกมองว่า เป็นรถที่อยากจะซื้อตามเทรนด์ อยากทดลอง กลายเป็นรถคันที่ 2-3 ของครอบครัว ส่งผลให้การใช้งานน้อย พื้นที่การเดินทางจำกัด กลุ่มนี้จะเป็นรถอีวีไซซ์ใหญ่ ทุนประกันสูง อาทิ Volvo, BMW, Porsche, Tesla ซึ่งเบี้ยจะค่อนข้างแพง โดยส่วนใหญ่เบี้ยรถอีวีจะแพงกว่ารถสันดาป 15-25% ขึ้นอยู่กับแบรนด์”

“แต่ตอนนี้ตลาดที่โตมาก ๆ จะเป็นรถอีวีที่ถูกใช้เป็นรถคันเดียว เพราะราคารถลดลงมาเหลือแค่ 6-7 แสนบาท เช่น BYD, GWM ซึ่งการขับขี่ของคนอายุน้อยจะมีความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบ่อย ทำให้เคลมสูง ขณะเดียวกันการซ่อมรถอีวีแม้เริ่มมีอู่ทั่วไปพัฒนาขึ้นมาซ่อมแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังซ่อมโดยศูนย์ ซึ่งราคาค่าแรง อะไหล่ ถือว่าแพงกว่าอู่ทั่วไป จึงเป็นพอร์ตงานที่ยังต้องระมัดระวัง”

ปัจจุบันพอร์ตรถอีวีของ BKI จนถึงเดือน ส.ค. 2566 มีรถในพอร์ต 3,500 คัน จากปีที่แล้วมีรถอีวีในพอร์ต 1,000 คัน ซึ่งเป็นการเติบโตตามแนวโน้มรถอีวีที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ในตลาด 6-7% คาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะมีเบี้ยรถอีวี 180 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ เป็นการเข้าไปรับประกันด้วยความระมัดระวัง

“เวลารถอีวีเกิดอุบัติเหตุเสียหายสิ้นเชิง จะไม่มีมูลค่าซาก เพราะชิ้นส่วนน้อย และแบตเตอรี่ก็ไม่สามารถใช้ซ้ำได้ จึงต้องคำนึงในหลาย ๆ ปัจจัย ฉะนั้นแม้ตลาดค่อนข้างโตและหลายภาคส่วนส่งเสริมให้คนใช้ และบอกว่าเบี้ยต้องไม่แพงกว่ารถปกติ ซึ่งภาพจะสวนกับทิศทางของตลาดที่เป็นสากล”

นายสรายุทธ พุ่มศรี ผู้จัดการฝ่ายประกันภัย น็อนมอเตอร์ด้านรถยนต์ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวว่า ภาพรวมพอร์ตประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่ง (แคร์ริเออร์) ของวิริยะในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีเบี้ยรับรวม 308 ล้านบาท เติบโต 27% YOY มีลอสเรโชหรือความเสียหายจากการเคลมเพียง 40.90% มีกำไรสุทธิ 84 ล้านบาท โดยตั้งเป้าช่วงสิ้นปีนี้จะมีเบี้ยรับ 500 ล้านบาท เติบโต 10% YOY มีแผนหลังจากนี้ต้องการเข้าไปเจาะกลุ่มขนส่งวัตถุอันตรายและน้ำมัน เพราะอัตราการเกิดเหตุต่ำ และงานในตลาดมีค่อนข้างมาก

“ตัวเลขเบี้ยแคร์ริเออร์ทั้งตลาดตอนนี้มีอยู่ 6,000 ล้านบาท (รวมประกันตัวเรือและประกันขนส่งคาร์โก้) โดยพอร์ตเฉพาะการขนส่งทางบกเราเป็นเจ้าตลาดอยู่ คาดหวังการโตปีละ 5-10% ก็พอใจแล้ว”

ปัจจุบันวิริยะมีพอร์ตรถขนส่งทั้งหมด 60,000 คัน พอร์ตใหญ่คือกลุ่มรถขนส่งของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ใช้ส่งสินค้าตามร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มีอยู่ทั้งหมด 5,000 คัน ยังไม่รวมรถเอาต์ซอร์ซที่มีอีกมาก โดยลอสเรโชถือว่าต่ำ อยู่ที่ระดับ 20-30% สาเหตุเพราะเป็นรถตู้ทึบ เวลาเกิดเหตุสินค้าไม่เสียหายรุนแรง สามารถจะนำมาประมูลขายได้ จะไม่เหมือนรถคอก ส่วนพอร์ตรถขนส่งที่เป็นรถคอกแม้เคลมสูง แต่ก็ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักจากเดิมจำกัด 3,000 กิโล ปรับเป็น 5,000 กิโล เพื่อขยายงานตรงนี้เพิ่มด้วย