โจทย์หินแจกเงินดิจิทัล พ.ร.บ.กู้เงินลุ้นฝ่า “4 ด่านอรหันต์”

digital currency

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับการที่รัฐบาลจะเสนอออกพระราชบัญญัติ เพื่อกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการ “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต” ตามที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้แถลงไปก่อนหน้านี้

โดยนายกรัฐมนตรีประเมินว่า หากกระบวนการไม่ติดขัดอะไร ราวเดือน พ.ค. ปีหน้า ก็น่าจะเริ่มโครงการได้ ทว่า… สถานการณ์ในขณะนี้ต้องบอกว่า ยังเต็มไปด้วย “ความเสี่ยง” สำหรับ “นโยบายสายล่อฟ้า” นี้

“กฤษฎีกา” ดูข้อกฎหมายให้ครบ

ทั้งนี้ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า เข้าใจว่ารัฐบาลจะหารือ ว่าจะออก พ.ร.บ.กู้เงินได้หรือไม่ ซึ่งการออกเป็น พ.ร.บ. ต้องให้รัฐสภาพิจารณาด้วย เพราะถ้าออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็เป็นการเร่งรัดจนเกินไป ใครทักท้วงไม่ได้ โดยนายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่อยากทำอย่างนั้น จึงอยากให้ออกเป็น พ.ร.บ.

“สิ่งที่กฤษฎีกาต้องพิจารณาคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ หน้าที่ของ ครม.ที่เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ กฎหมายเงินตรา เงินคงคลัง อะไรที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องพิจารณาทั้งหมด ว่ามีเงื่อนไขอะไรที่จะทำได้ หรือทำไม่ได้บ้าง และทำได้ภายใต้เงื่อนไขอะไร”

พ.ร.บ.กู้เงินยังยกร่างไม่เสร็จ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่างกฎหมายตามขั้นตอน ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในก่อนสิ้นปี 2566 นี้

ทั้งนี้ ยอมรับว่า กรณีหาก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่านนั้น ตอนนี้ไม่ได้มีแผนสำรอง เนื่องจากเชื่อว่าจะสามารถทำให้ผ่านได้ เป็นทางเดียว และยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีทยอยจ่ายแน่นอน อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการพิจารณาในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย ยังสามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้

ASP เชื่อ พ.ร.บ.มีโอกาสผ่าน

ด้าน “ภราดร เตียรณปราโมทย์” รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส หรือ ASP กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงินมีโอกาสที่จะผ่านค่อนข้างมาก เนื่องจากกรอบการกู้เงินยังไม่ได้เกินเพดาน โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 61% จากเพดานอยู่ที่ 70% ยังสามารถกู้ได้อีกราว 1.6 ล้านล้านบาท

“ถ้ากู้ 5 แสนล้านบาท ก็ไม่น่าจะเกินกรอบ และพรรคร่วมรัฐบาลก็มี 320 เสียง จึงเชื่อว่ามีโอกาสที่จะผ่านได้สูง เพราะเป็นนโยบายหลักที่หาเสียงไว้น่าจะมีการผลักดันให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากนโยบายผ่านได้จริง ก็จะเริ่มแจกเงินได้ประมาณเดือน พ.ค. 2567 ถือว่าค่อนข้างนาน แต่ก็ยังมีมาตรการ e-Refund ที่จะมาชดเชยในช่วงต้นปี 2567 เหมือนกับโครงการช้อปช่วยชาติในอดีต ซึ่งสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ในระดับแสนล้าน”

ดังนั้น e-Refund ก็จะช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนได้ในช่วงแรก ต่อด้วยเงินดิจิทัลในช่วงกลางปี ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในปีหน้าได้อย่างชัดเจน และจะผลักดัน GDP ให้เติบโตได้โดดเด่นมากขึ้น นอกจากนี้การท่องเที่ยวก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประมาณ 35 ล้านคน

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะโดดเด่นจากมาตรการดิจิทัลวอลเลต และ e-Refund จะเป็นพวกหุ้นที่เกี่ยวกับการอุปโภค บริโภค โดยกลุ่มค้าปลีกก็มีความโดดเด่นแทบทั้งหมด อาทิ CPAXT, CPALL, CRC, BJC, HMPRO เป็นต้น

รวมถึงกลุ่มมือถือ อาทิ COM7, JMART นอกจากนี้ กลุ่มอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว ก็จะดีด้วย อาทิ MINT, CENTEL, AU เป็นต้น

“เมย์แบงก์” ชี้ 2 อุปสรรคสำคัญ

ขณะที่ บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST วิเคราะห์ว่า รัฐบาลได้ประกาศรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเลต พร้อมออกมาตรการลดหย่อนภาษีใหม่ (e-Refund) โดยมาตรการข้างต้นคาดมีมูลค่ารวม 6 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการกระตุ้นภาคบริโภคในประเทศ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

ซึ่งนับรวมได้ 13 มาตรการ อาทิ มาตรการคนละครึ่งและมาตรการลดหย่อนภาษี (ช้อปช่วยชาติ ช้อปดีมีคืน ยิ่งใช้ยิ่งได้) โดยมาตรการเหล่านั้นมีสัดส่วนตั้งแต่ไม่ถึง 0.1-1.39% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งสองโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นราว 6 แสนล้านบาท หรือ มากกว่า 3% ของ GDP

“ถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นภาคบริโภคครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นต่อการบริโภคภาคเอกชนและการเติบโตของ GDP ในปี 2567-2568 ได้อย่างมีนัยสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม MST มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว มีอุปสรรค 2 ประการ ประการแรก ความท้าทายทางกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้โครงการถูกยกเลิกทั้งหมดหรือลดขนาดลงอย่างมาก โดยฝ่ายค้านอ้างถึงมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การจัดหาเงินทุนของรัฐ) และมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางการเงินและการคลังของรัฐ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อจำกัดในการระดมทุนฉุกเฉิน)

และประการที่สอง การกู้ยืมเพื่อสนับสนุนมาตรการดังกล่าวอาจมีมูลค่ารวม 6 แสนล้านบาท (มากกว่า 3% ของ GDP) ซึ่งอาจเผชิญความท้าทายเนื่องจากเงินทุนยังคงไหลออกและสภาพคล่องส่วนเกินที่ลดลงในประเทศไทย

พ.ร.บ.กู้ต้องฝ่า 4 ด่านอรหันต์

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การเสนอออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการแจกเงินดิจิทัลนั้น เป็นแนวทางที่ดีกว่าใช้แหล่งเงินตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ

เนื่องจากจะสะท้อนภาระของรัฐบาลอย่างชัดเจนกว่า เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นจะแสดงในหนี้สาธารณะ ซึ่งประเมินว่า ถ้ากู้เต็ม 5 แสนล้านบาท ระดับหนี้สาธารณะจะขึ้นไปที่ 63-64% ของ GDP จากปัจจุบันอยู่ระดับ 61% ขณะที่การใช้มาตรา 28 จะไม่ได้แสดงว่า เป็นหนี้ของรัฐบาล เพียงแต่รัฐบาลจะต้องชดเชยคืนให้ในภายหลัง

“การออก พ.ร.บ.กู้เงิน อาจจะต้องเจอกับ 4 ด่านสำคัญ คือ ด่านแรก คณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะตีความว่าทำได้หรือไม่ได้ ด่านที่สอง รัฐสภา ที่หากผ่านสภาผู้แทนราษฎรขึ้นไป ก็ยังมีวุฒิสภาที่ก็ต้องดูว่า ส.ว. จะยอมให้ผ่านหรือไม่ แล้วถ้าผ่านด่านรัฐสภาไปได้ ก็มีโอกาสเจอด่านที่สาม คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะมีคนไปยื่นให้ตีความ รวมถึงด่านสุดท้าย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีก”

เรียกได้ว่ายังต้องฝ่าด่านยากอีกหลายด่านเลยทีเดียว