ตลาดหุ้นกู้ระทึก “ขายไม่หมด” นักลงทุนผวา “เบี้ยวหนี้” พุ่ง

BONDS

สัญญาณเตือนตลาดหุ้นกู้สะดุด-ขายไม่หมด สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยปีนี้หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้รวม 5 บริษัท สูงสุดในรอบ 3 ปี กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน จับตาปีหน้าหุ้นกู้ครบดีลเจอปัญหาโรลโอเวอร์ยาก โดยเฉพาะกลุ่มไฮยีลด์ เลขาฯ ก.ล.ต.ยอมรับหุ้นกู้ไฮยีลด์ขายได้แค่ 70-80% วงในเกาะติดหุ้นกู้กลุ่ม “อสังหาฯ-คอนซูเมอร์-ไฟแนนซ์” ภาวะเปราะบาง-ต้นทุนเงินแพง

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2566 มียอดออกหุ้นกู้ใหม่จำนวนทั้งสิ้น 1,004,722 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 18.7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยช่วงที่เหลือของปีนี้ (6-31 ธ.ค.) จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอีกมูลค่า 93,700 ล้านบาท แยกเป็นหุ้นกู้ระดับลงทุน(investment grade) จำนวน 85,946 ล้านบาท และหุ้นกู้เสี่ยงสูง (high yield bond) จำนวน 7,754 ล้านบาท

สำหรับในปี 2567 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดรวมทั้งสิ้น 890,908 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้มีปัญหา) โดยกว่า 90% ไม่น่าห่วง เพราะเป็น investment grade (เรตติ้ง BBB- ขึ้นไป) มูลค่ารวม 791,322 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้เรตติ้ง A- ขึ้นไปถึง 86 บริษัท มูลค่ารวม 6.88 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างต่ำ

ส่วนที่เหลืออีก 10% มูลค่าประมาณ 99,586 ล้านบาท จะเป็นกลุ่ม high yield bond ดังนั้นคงจะต้องติดตามเป็นรายบริษัท เพราะบางรายไม่มีปัญหา ถึงแม้เป็นหุ้นกู้ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็ตาม โดยจะขึ้นอยู่กับชื่อเสียง ผู้บริหาร และผลประกอบการ ซึ่งมีหลายบริษัทลักษณะนี้ยังสามารถได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้สูงสุดใน 3 ปี

นางสาวอริยากล่าวอีกว่า สำหรับปี 2566 ถือเป็นปีที่ตลาดตราสารหนี้ไทยเผชิญกับเรื่องปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มากที่สุดในรอบ 3 ปี นับจากปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงปีโควิด ถือว่ากลับมากระทบต่ออารมณ์ของตลาด (market sentiment) ค่อนข้างมาก โดยส่งผลให้นักลงทุนค่อนข้างเป็นกังวล

โดยปีนี้มีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้สูงถึง 5 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) 2.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) 3.บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) 4.บมจ. ช ทวี (CHO) และ 5.บริษัท เดสติเนชั่น รีสอร์ทส์ จำกัด (DR) ซึ่งล่าสุดทาง CHO ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้ว

ทั้งนี้ อัตราการผิดนัดต่อมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ อยู่ที่ 0.3% เทียบจากช่วงปีโควิด ที่อัตราผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่ 2% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผิดนัดของหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย (THAI) เพียงรายเดียว มูลค่า 7.1 หมื่นล้านบาท

“ช่วงปีโควิดหลายบริษัทได้รับผลกระทบ บางบริษัทต้องประชุมขอยืดชำระหนี้ และพอมาปีนี้กลายเป็นว่า ต้นปี ALL ผิดนัดชำระหนี้ ตามมาด้วย STARK และ JKN ซึ่งบางบริษัทนักลงทุนไม่คาดคิดมาก่อน อย่างเช่น STARK ผลการดำเนินงานไม่ได้แสดงว่าอ่อนแอ หรือแม้แต่ JKN ก็ตาม ยังมีกำไรและจ่ายเงินปันผลได้อยู่ จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนอาจจะไม่ได้ตั้งตัวว่าจะมีปัญหาตามมาขนาดนั้น”

อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้ในปีนี้ยังไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเซ็กเตอร์เดียว แต่กระจายหลายเซ็กเตอร์ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ มีเดีย ท่องเที่ยว สายไฟฟ้า สะท้อนว่าเป็นผลกระทบรายบริษัทมากกว่า

นางสาวอริยากล่าวว่า ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น พบว่าช่วงเวลา 2 ปี ต้นทุนดอกเบี้ยขึ้นมารวมประมาณ 1.50% สำหรับหุ้นกู้เรตติ้ง BBB+ รุ่นอายุ 5 ปี ซึ่งรวมทั้งพันธบัตร รุ่นอายุ 5 ปี ต้นทุนดอกเบี้ยขยับเป็น 2.8% ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้และผู้ออกพันธบัตร

หุ้นกู้ขายไม่หมด-โรลโอเวอร์ยาก

แหล่งข่าววงในตลาดหุ้นกู้กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ค่อนข้างได้รับผลกระทบหนักจากกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ซึ่งตอนนี้ยังส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอยู่ โดยภาพรวมในตลาดจึงยังไม่ฟื้นตัวกลับมามาก เพราะคนมีความระมัดระวัง ยังรู้สึกกลัว เก็บเงินสดไว้ ไม่กล้าลงทุน ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือเห็นการออกหุ้นกู้ใหม่ลดลง การโรลโอเวอร์ทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มไฮยีลด์ แต่ทั้งนี้ควรจะมองเป็นรายบริษัทมากกว่าทั้งกลุ่ม เพราะในเชิงระบบยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีปัญหา

“ปีที่แล้วผู้ออกทุกบริษัทวงเงินเสนอขายเยอะ แต่พอมาปีนี้ทุกบริษัทออกได้ลดลง ตอนนี้หุ้นกู้ไฮยีลด์เท่าที่ทราบ ทุกฝ่ายก็พยายามช่วยกันสุดความสามารถ อุดรอยรั่วกันเป็น case by case” แหล่งข่าวกล่าว

นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทิศทางดอกเบี้ยเปลี่ยนไปพอสมควร โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐจากแตะ 5% ตอนนี้เหลือ 4.25% (ณ วันที่ 4 ธ.ค.) หุ้นกู้รุ่นอายุ 3 ปี เรตติ้ง AAA และ BBB+ มีต้นทุนกู้ยืมลดลงไปประมาณ 0.10%

ทั้งนี้ แรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจบแล้ว แต่ปัจจัยเหล่านี้จะยังช่วยเฉพาะหุ้นกู้ investment grade หรือพวกที่มีเครดิตเรตติ้งดี ๆ เป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่สำหรับกลุ่มไฮยีลด์เสี่ยงสูงอาจจะยังไม่ได้ประโยชน์ เพราะการโรลโอเวอร์เป็นเรื่องความเชื่อมั่นมากกว่าเรื่องราคา/ดอกเบี้ย

ลุ้น Q1 “อสังหาฯ” ครบดีลเพียบ

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า ต้องติดตามหุ้นกู้เซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (consumer finance) เพราะมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้จำนวนมาก จึงมีภาวะเปราะบาง และมีปัญหาต้นทุนเงินแพงขึ้น ทำให้เป็นกลุ่มที่ถูกจับตาว่ามีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ โดยในไตรมาส 1/2567 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนด 242,694 ล้านบาท เป็นกลุ่มไฮยีลด์และไม่มีการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง (น็อนเรต) 62,393 ล้านบาท

โดย 10 บริษัทแรกที่หุ้นกู้ครบกำหนดในไตรมาสแรกปี 2567 มี 8 บริษัทอยู่ในเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย 1.MQDC มูลค่า 9,704 ล้านบาท 2.ANAN มูลค่า 3,825 ล้านบาท 3.PF มูลค่า 2,679 ล้านบาท 4.MK มูลค่า 2,201 ล้านบาท 5.A มูลค่า 1,730 ล้านบาท 6.CI มูลค่า 950 ล้านบาท 7.CWTTH มูลค่า 600 ล้านบาท และ 8.BEYOND มูลค่า 577 ล้านบาท

ก.ล.ต.ไม่นิ่งนอนใจลุยแก้ปมหุ้นกู้

ด้านนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้สถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มหุ้นกู้เสี่ยงสูง (high yield bond) ซึ่งเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นกู้ทั้งระบบยังมีสัดส่วนน้อยมาก แต่ถามว่าเห็นปัญหาไหม ก.ล.ต.เห็นปัญหาและไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะกระทบกับความเชื่อมั่นระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เห็นว่าหุ้นกู้มีปัญหาทั้งระบบ

สถานการณ์ตอนนี้คือหุ้นกู้ขายไม่หมด โดยไฮยีลด์บอนด์ขายได้ประมาณ 70-80% แต่ถ้าเป็น investment grade ยังขายได้ระดับ 95-100% ซึ่งสาเหตุที่บางบริษัทขายหุ้นกู้ไม่หมดมาจากหลายสาเหตุ

“ฉะนั้นก็อาจจะต้องจัดการแก้ปัญหาเป็นส่วน ๆ อย่างเช่น หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว อันไหนที่เราจะช่วยเหลือคนที่เสียหายได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การทำหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ สำนักงาน ก.ล.ต.ก็กำลังดูแลอยู่”

นางพรอนงค์กล่าวว่า ส่วนจะป้องกันไม่ให้การผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหารือกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ถึงแนวทางป้องกันที่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยอาจจะต้องมีข้อกำหนดสิทธิ หรือเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่องหลักประกันให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น

นอกจากนี้ ต้องไปเข้มงวดกับผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ คือต้องทำ KYC ที่เข้มขึ้น ต้องจัดกลุ่มลูกค้าที่เข้มข้น ขายให้ถูกฝาถูกตัว เพราะหากไม่ถูกต้องจะไม่ยั่งยืน ส่วนการขายหุ้นกู้ให้นักลงทุนรายย่อย ก็อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่มีการเสนอว่าให้ยกระดับเรตติ้งขึ้น เช่น ต้องสูงกว่า investment grade ขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้ออกมาเป็นรูปธรรม

คุมไฮยีลด์ “จำกัดก่อหนี้-จ่ายเงิน”

นางสาวอริยากล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้เสนอแนวคิดสำนักงาน ก.ล.ต. ในการจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ออกจะต้องปฏิบัติสำหรับผู้ออกหุ้นกู้เสี่ยงสูง เพราะตามมาตรฐานต่างประเทศ เวลากลุ่มไฮยีลด์บอนด์ออกขายหุ้นกู้จะมีกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่าหุ้นกู้ investment grade เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ออกจะต้องเอาเงินมาคืนเจ้าหนี้ระหว่างทาง

“ผู้ออกไฮยีลด์บอนด์ จะเป็นบริษัทขนาดกลางขนาดเล็ก ข้อกำหนดเหล่านี้จะต้องเข้มงวด เช่น จะต้องมีข้อจำกัดการก่อหนี้, ข้อจำกัดการจ่ายเงินออกไปจากบริษัท, ข้อจำกัดการขายทรัพย์สิน เป็นต้น”

ดังนั้นในอนาคตก่อนออกหุ้นกู้ อาจจะต้องมีการจัดทำข้อกำหนดลักษณะนี้ เพื่อให้สามารถไปมอนิเตอร์ในระหว่างทางได้ เบื้องต้นจะเป็นข้อเสนอการจัดทำ และนำไปหารือผู้ร่วมตลาด สำนักงาน ก.ล.ต. และนักกฎหมาย เพื่อนำมาตรฐานจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ โดยอาจจะเริ่มใช้เป็นแนวทางปฏิบัติก่อนสำหรับผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ ซึ่งคาดว่าจะออกมาได้ในปี 2567

ปัจจุบันนี้ผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์กว่า 99% จะเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ประเภทบุคคลธรรมดา และที่ผ่านมาหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มนี้ ไม่นับกรณีหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย (THAI) โดยผู้ถือหุ้นกู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) พบว่ามีกว่า 3 พันราย/บริษัท

จับตา ธ.ค. บริษัทแห่ระดมทุน

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีหุ้นกู้ที่เตรียมออกขายในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกจำนวนมาก อาทิ 1.บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) เปิดจองซื้อ 12-14 ธ.ค. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป จำนวน 2 ชุด รุ่นอายุ 3 ปี 4 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี และรุุ่นอายุ 4 ปี 6 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 4.40% ต่อปี

2.บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) (SGP) เปิดจองซื้อ 14-18 ธ.ค. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป รุ่นอายุ 2 ปี 9 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 4.75-4.95% ต่อปี และรุ่นอายุ 4 ปี 2 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 4.95-5.15% ต่อปี

3.บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (NOBLE) เปิดจองซื้อ 18-20 ธ.ค. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป รุ่นอายุ 1 ปี 5 เดือน 26 วัน จ่ายดอกเบี้ย 4.70-4.80% ต่อปี และรุ่นอายุ 3 ปี จ่ายดอกเบี้ย 5.15-5.25% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 9 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 4.75-4.95% ต่อปี

4.บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (GRAND) เปิดจองซื้อ 18-20 ธ.ค. รุ่นอายุ 1 ปี 9 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 7.45% ต่อปี

5.บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) เปิดจองซื้อ 21-25 ธ.ค. แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน จำนวน 2 ชุด รุ่นอายุ 1 ปี 5 เดือน 15 วัน จ่ายดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 5 เดือน 14 วัน จ่ายดอกเบี้ย 4.40% ต่อปี

6.บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (CI) เปิดจองซื้อ 25-27 ธ.ค. แก่ผู้ลงทุนสถาบันและรายใหญ่ รุ่นอายุ 1 ปี 6 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 6.65-6.85% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 9 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 7-7.25% ต่อปี