ก.ล.ต.เร่งยกระดับคุม “หุ้นกู้เสี่ยงสูง”-บังคับใช้ปี 2567

หุ้นกู้เสี่ยงสูง

ก.ล.ต.จ่อยกระดับกำกับ “หุ้นกู้” ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย เล็งปรับเกณฑ์ใหม่ “ขันนอต” เข้มขึ้น เริ่มบังคับใช้ปี’67 เป็นต้นไป เลขาธิการลั่นคุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ขณะที่ “ThaiBMA” ชี้ต้องเพิ่มเกณฑ์คุณสมบัติ บจ.เฟ้นคุณภาพ ทั้งด้านการเงิน-การตั้งผู้บริหารบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน พร้อมชงจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขคุมหุ้นกู้เสี่ยงสูง “จำกัดการก่อหนี้-การจ่ายเงินออกจากบริษัท-การขายทรัพย์สิน”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หลายฝ่ายมีความกังวลสถานการณ์ในตลาดทุนไทยอย่างมาก เกรงว่าจะมีบริษัทจดทะเบียนประสบปัญหา โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เหมือนกับกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) หรือล่าสุด กรณี บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ซึ่งทางหน่วยงานกำกับตลาดทุนคงจะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต.กำลังติดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (default) อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหุ้นกู้เสี่ยงสูง (high yield bond) ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับยอดคงค้างของหุ้นกู้ทั้งตลาด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหนึ่งในเซนติเมนต์เชิงลบที่อาจทำให้เกิดความกังวลของผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย

“ก.ล.ต.อยู่ระหว่างดำเนินการหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงหุ้นกู้ของประชาชนที่ควรจะต้องมีการขันนอตให้หุ้นกู้นั้นจัดระดับความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้นกู้กับประชาชนทั่วไปที่ระดับลงทุน (investment grade) ว่าจะเพียงพอหรือไม่ หรือต้องเข้มงวดให้มีเครดิตเรตติ้งที่ดีขึ้นกว่านั้น และการเข้มงวดการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกหุ้นกู้ที่มากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการทำหน้าที่ของ gatekeeper หรือผู้ขายหุ้นกู้ ซึ่งถือว่าจะมีการปรับหลายส่วน เพราะในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจะมีผลต่อสภาพคล่องในตลาดอยู่มาก จึงต้องเข้าไปดูแลจุดต่าง ๆ ให้เข้มงวดมากขึ้น

Advertisment

“เราไม่นิ่งนอนใจ ติดตามและพยายามจะขันนอตให้เรื่องต่าง ๆ มีความเสียหายอยู่ในวงจำกัด ซึ่งต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นและความมั่นใจ (trust and confidence) เป็นเรื่องที่พูดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งไหนที่ต้องยกระดับความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้ เราก็จะไปทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ผู้ระดมทุนที่จะต้องมีความเข้มแข็ง และมีกลไกในการตรวจสอบตัวเอง เป็นต้น”

นางพรอนงค์กล่าวว่า ภาพทั้งหมดจะเห็นความชัดเจนตั้งแต่ในช่วงเดือน ธ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ และให้มีผลบังคับใช้ประมาณต้นปี 2567 โดยสำนักงาน ก.ล.ต.มีแผนจะจัดแถลงทิศทางการดำเนินงานช่วงวันที่ 7 ธ.ค.นี้ โดยมีหัวข้อ “Build Trust and Confidence”

พรอนงค์ บุษราตระกูล
พรอนงค์ บุษราตระกูล

“ส่วนตัวมองว่าถ้าตลาดเชื่อว่าสภาพตลาดหุ้นกู้ไม่ดี ชะลอซื้อขาย และข้อมูลนั้นถูกต้องหรือเหมาะกับความเสี่ยงของเขา มองว่าก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกคนระมัดระวัง แต่ถ้าความเชื่อนั้นเป็นลักษณะอุปาทานหมู่ และนำไปสู่การกดดันตลาดโดยที่ไม่ควร เรื่องนี้ก็อาจต้องช่วยกันอีกแรงหนึ่ง”

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องหุ้นกู้อย่างมาก ตอนนี้กำลังพยายามจะทำข้อมูลที่เกือบจะเป็นรายวัน (daily) เช่น หากมีบริษัทออกหุ้นกู้ใหม่จะมีผลกระทบกับความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยอย่างไรบ้าง เป็นต้น

Advertisment

“ปัจจุบันสิ่งที่มอนิเตอร์ยังเป็น manual แต่ในอนาคตจะทำให้เป็น automate มากขึ้น และก็เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะในช่วงอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ยิ่งเป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น”

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้กว่า 90% เป็นบริษัทจดทะเบียนทั้ง SET และ mai ดังนั้นแนวทางการขันนอตมุมแรก ก็คือ การเพิ่มเกณฑ์คุณสมบัติทางด้านการเงินและคุณสมบัติของผู้บริหารของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน

ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการเพิ่มความรอบคอบเรื่องคุณภาพ เวลามาออกหุ้นกู้จะเชื่อได้ว่าจะเป็นบริษัทที่มั่นคงมากขึ้น

ขณะเดียวกันสมาคมได้เสนอแนวคิดต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในการจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ออกจะต้องปฏิบัติสำหรับผู้ออกหุ้นกู้กลุ่มเสี่ยงสูง (high yield covenant) เพราะตามมาตรฐานในต่างประเทศ เวลากลุ่มไฮยีลด์บอนด์ออกขายหุ้นกู้จะมีกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่าหุ้นกู้ระดับลงทุน (investment grade) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ออกจะต้องเอาเงินมาคืนเจ้าหนี้ระหว่างทาง

เนื่องจากถ้าเป็นกลุ่ม investment grade อาจจะไม่ห่วง เพราะส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีมาตรฐานเรื่องการดำเนินงานมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง แต่พอเป็นผู้ออกกลุ่มไฮยีลด์บอนด์ ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทขนาดกลางขนาดเล็ก ข้อกำหนดเหล่านี้จะต้องเข้มงวดกว่า เช่น จะต้องมีข้อจำกัดการก่อหนี้, ข้อจำกัดการจ่ายเงินออกไปจากบริษัท, ข้อจำกัดการขายทรัพย์สิน เป็นต้น

“ดังนั้นในอนาคตก่อนออกหุ้นกู้ อาจจะต้องมีการจัดทำข้อกำหนดลักษณะนี้ เพื่อให้สามารถไปมอนิเตอร์ในระหว่างทางได้ เบื้องต้นจะเป็นข้อเสนอการจัดทำ และนำไปหารือผู้ร่วมตลาด สำนักงาน ก.ล.ต. และนักกฎหมาย เพื่อนำมาตรฐานจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ โดยอาจจะเริ่มใช้เป็นแนวทางปฏิบัติก่อนสำหรับผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ ซึ่งคาดว่าจะออกมาได้ในปี 2567”

ทั้งนี้ ในปี 2566 นี้มีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รวม 5 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) 2.STARK 3.JKN 4.บมจ.ช ทวี (CHO) และ 5.บริษัท เดสติเนชั่น รีสอร์ทส์ จำกัด (DR) ซึ่งล่าสุดทาง CHO ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้ว

“อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเซ็กเตอร์เดียว แต่กระจายหลายเซ็กเตอร์ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ มีเดีย ท่องเที่ยว สายไฟฟ้า สะท้อนว่าเป็นผลกระทบรายบริษัทมากกว่า” นางสาวอริยากล่าว