หุ้นไทยดิ่งหนัก นิวโลว์รอบ 3 ปี เข้าสู่ “ตลาดหมี” ต่างชาติขาย 2 แสนล้าน

หุ้นไทย
ภาพจาก AFP

หุ้นไทยดิ่งหนัก นิวโลว์รอบ 3 ปี เข้าสู่ภาวะ “ตลาดหมี” ต่างชาติขาย 2 แสนล้าน บล.ฟิลลิป ชี้ 5 ปัจจัยลบรุมเร้า ด้าน บล.เอเซีย พลัส เผยหุ้นไทยเผชิญ “ภาวะตลาดหมี” Turnover แห้งเหือด กดดัน SET ช่วงสั้นอยู่ในสภาวะขึ้นได้ยาก ประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำ-อัตราค่าไฟฟ้ารอบใหม่-มาตรการ Easy e-Receipt” ยังไม่มีความชัดเจน นโยบายแก้ปัญหาหนี้ของรัฐบาลกดดันกลุ่มสถาบันการเงิน

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบตลอดทาง โดยลงไปทดสอบระดับต่ำสุดที่บริเวณ 1,354.73 จุด ติดลบ 19.19 จุด (ณ เวลา 15.15 น.) มูลค่าการซื้อขายตลอดวันค่อนข้างเบาบางเป็นอย่างมาก โดยการปรับตัวลงรอบนี้เป็นระดับที่ทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับจากช่วงปี 2563 ที่หลุดลงไประดับต่ำสุดที่บริเวณ 1,024.46 จุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 จากผลกระทบวิกฤตโควิด

โดยนับจากต้นปี (YTD) นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้วกว่า 1.98 แสนล้านบาท และในเดือน ธ.ค.ขายไปกว่า 5.7 พันล้านบาท (1-12 ธ.ค.) โดยหากดูสถิติฟันด์โฟลว์ในตลาดหุ้นไทยย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเกินระดับ 2 แสนล้านบาท/ปี ปีนี้จะเป็นปีที่ 3

  • ปี 2561 ขายสุทธิหุ้นไทย 287,458 ล้านบาท
  • ปี 2563 ขายสุทธิหุ้นไทย 264,385 ล้านบาท
  • ปี 2566 ขายสุทธิหุ้นไทย 198,083 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ธ.ค.)

อัพเดทล่าสุดปิดตลาดหุ้นไทยวันนี้ ตลาดหุ้นไทยยืนอยู่ที่ 1,357.97 จุด ลดลง 15.95 จุด -1.16% เมื่อเทียบจากดัชนีวันก่อนหน้า มีมูลค่าการซื้อขายรวม 37,984.99 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 542.14 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) รายงานว่า ดัชนี SET Index ภาคเช้าปิดตลาด ติดลบ 14.84 จุด (หรือ -1.08%) ไปอยู่ที่ 1,359.08 จุด แรงกดดันนำโดยหุ้น Big Cap ได้แก่ DELTA, CPALL, ADVANC และ PTT ภาพลบของดัชนี SET Index ภาคเช้าสอดคล้องกับภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวลงทั้ง Hang seng ลดลง 0.77%, Kospi ลดลง 0.70% และ SET Index ได้ปรับตัวลงตามกลุ่ม TIP

หุ้นไทยปัจจัยลบรุมเร้า

มุมมองตลาดภาคบ่ายคาดดัชนี SET Index มีโอกาสปรับตัวลงได้ต่อด้วยปัจจัยรุมเร้า ทั้งจาก

1.ราคาน้ำมัน WTI ที่ยังต่ำกว่าระดับ 69 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็นแรงกดดันต่อกลุ่มพลังงานซึ่งเป็น Big Cap

2.เผชิญแรงขายทำกำไรบางส่วนของนักลงทุน ก่อนทราบผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในช่วงเช้าตรู่วันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย 3.นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าขายหุ้นไทยกว่า 5.7 พันล้านบาท นับจากต้นเดือน ธ.ค.-12 ธ.ค. (MTD) และขายสุทธิไปกว่า 1.98 แสนล้านบาท นับจากต้นปี (YTD)

4.บรรยากาศเชิงลบจากฝั่งจีนหลังราคาเนื้อหมูลงกว่า 31.8% ส่งความกังวลต่อความเสี่ยงสภาวะเงินฝืดของจีนให้สูงขึ้น

และ 5.มุมมองเศรษฐกิจไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากการประชุม Monetary Policy Forum ในช่วงเช้า มองนักท่องเที่ยวปี 2567 โดยรวมยังไม่มากกว่าช่วงก่อนโควิด-19

นอกจากนี้ ธปท. ยังมองนโยบายการเงินปัจจุบันเหมาะสมแล้ว แต่มองเศรษฐกิจไทยที่เติบโตระดับต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเกินอำนาจ ธปท. จะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามแรงพยุงยังมีบ้างจาก 1.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดประชาชนมีแผนท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4/2566 โดยเฉพาะฝั่งภาคเหนือและนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น +10.37% จากเดือนก่อนหน้า จากงานคอนเสิร์ตศิลปินระดับโลกในไทย ซึ่งทางฝ่ายมองจะเป็นบวกต่อภาคการจับจ่ายใช้สอย

2.ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามากเป็นความหวังต่อแรงซื้อหุ้นในกลุ่ม TESG เข้าพยุงดัชนี ทางฝ่ายมอง BH จะได้เซนติเมนต์บวกจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 นอกจากนี้ BH ยังเป็นหุ้น Defensive Stock จึงมองเป็นหลุมหลบภัยในสภาวะตลาดขาลงได้

ด้านปัจจัยพื้นฐานแม้งบฯงวดไตรมาส 4/2566 มีโอกาสอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) เนื่องจากฐานไตรมาส 3/2566 ที่ทำได้สูง แต่ทางฝ่ายยังมองจะเติบโตได้จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ปัจจัยสนับสนุนยังมาจากการท่องเที่ยวไตรมาส 4/2566 โดยเฉพาะแบบ Medical Tourism โดยทางฝ่ายยังคาดหวังการเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติฝั่งตะวันออกกลาง ซึ่งมี Price Intensity สูง

หุ้นไทยเผชิญ “ภาวะตลาดหมี” Turnover แห้งเหือด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน และทางเทคนิค บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ 3 ประเด็นที่รอ ได้แก่ ค่าแรงขั้นต่ำ, อัตราค่าไฟฟ้ารอบใหม่ และมาตรการ Easy e-Receipt ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่มีแรงกดดันในกลุ่มสถาบันการเงินจากความกังวลเรื่องนโยบายแก้ปัญหาหนี้ของรัฐบาล

ภาวะดังกล่าวทำให้ดัชนี SET Index วานนี้ปรับตัวลดลงต่อ จนเริ่มถูกมองว่าตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) ประเมินทิศทางในช่วงสั้นเห็นตลาดหุ้นไทยอยู่ในสภาวะที่ขึ้นได้ยาก ปัจจัยหลักมาจาก Turnover ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก (ด้วยขนาดมาร์เก็ตแคป ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายควรอยู่ที่ประมาณ 4.9-5 หมื่นล้านบาท/วัน)

ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้สัดส่วนของมูลค่าการทำชอร์ตเซลและการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญหากมองในภาพของการซื้อขายสุทธิยังพบว่ามีเงินไหลออกจากนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง

วานนี้สำนักข่าว BLOOMBERG รายงานว่า ตลาดหุ้นไทยจ่อเข้า “ตลาดหมี” หรือ BEAR MARKET โดยตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565-ปัจจุบัน ดัชนีร่วงหนัก 20% ขณะที่หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี (YTD) ตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวลงมา 17.7% สวนทางกับตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้น 16.1% (YTD) ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความเชื่อมั่นที่หายไปของนักลงทุน ทำให้มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เบาบางลงเรื่อย ๆ  

เดือน ธ.ค. 2566 ตลาดหุ้นไทย มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เบาบางมากเหลือเพียง 3.76 หมื่นล้านบาทต่อวัน (คิดเป็น TURNOVER 54% ต่อปี) ต่ำสุดเมื่อเทียบกับทุกเดือนในปีนี้ และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 5.17 หมื่นล้านบาทต่อวัน  

ขณะที่วานนี้ดัชนี SET Index มีมูลค่าซื้อขายที่ระดับ 3.5 หมื่นล้านบาท ลดลง 24.7% จาก ค่าเฉลี่ยของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 100 วันย้อนหลัง (ถือว่าน้อยสุดในเอเชีย) ในมุมของ SHORT SALE ก็มีปริมาณที่มากผิดปกติ โดนวานนี้มีปริมาณ SHORT SALE ที่ 4.2 พันล้านบาท (คิดเป็น 12% ของมูลค่าซื้อขาย)

โดยรายชื่อหุ้นใน SET100 ที่ ลงลึกถูก SHORT หนัก คือหุ้นกลุ่มเสียประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรง หุ้นมีหนี้สูง อาทิ CK, STEC, AWC, SCGP, MINT เป็นต้น

ตลาดหุ้นนอกดีดต่อเนื่อง แรงคาดหวังดอกเบี้ยขาขึ้นจบ

ขณะที่วานนี้ตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดตัวในแดนบวกที่ 0.5-0.7% โดยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็น วันที่ 5 ขณะที่ดัชนี VIX ลดลงเหลือ 12 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปี สะท้อนความกล้าลงทุนมากที่สุดในการลงทุนหุ้นสหรัฐ จากความคาดหวังว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบลงแล้ว

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐที่ปรับตัวลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยในเดือน พ.ย. อยู่ที่ +3.1% YOY ตามคาด ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ +3.2% YOY ขณะที่การประชุม FED คืนนี้ (14 ธ.ค. เวลา 2.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ตลาดคาดว่ามีโอกาสสูงถึง 98% ที่ FED จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.50% ซึ่งถือเป็นแรงผลักให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม FED และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีการทำ QT ในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นการลดทอนผลตอบแทนในตลาดหุ้นต่างประเทศได้ ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นไทยที่ไม่ได้มีการทำ QT แต่อย่างใด

สำหรับเงินเฟ้อในระยะถัดไป มีโอกาสปรับตัวลดลงตามราคาพลังงาน โดยราคาน้ำดิบ WTI ยังร่วงลงเรื่อย ๆ ที่ -9.5% MTD อีกทั้งวานนี้ดิ่งลงราว -3.6% จากความกังวลภาวะโอเวอร์ซัพพลาย หลัง OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน ในไตรมาส 1/2567 เป็นไปในลักษณะของการสมัครใจของประเทศสมาชิก แทนที่จะเป็นการกำหนดโควตาอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก