ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์รองรับ SMEs-Startup ขาย “ตราสารหนี้ยั่งยืน”

ก.ล.ต.

ก.ล.ต.เปิดรับฟังความเห็นการปรับเกณฑ์รองรับ SMEs-startup ออกและเสนอขาย “ตราสารหนี้ยั่งยืน” ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน-ช่วยพัฒนาด้านความยั่งยืน ตั้งแต่วันนี้-จนถึงวันที่ 16 มกราคม 2567

วันที่ 19 ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงร่างประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสม และรองรับการออกและเสนอขายผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิ้งและการเสนอขายในวงจำกัด สำหรับ SMEs และ startup เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านความยั่งยืน รวมทั้งยกระดับการเปิดเผยข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ตามที่ ก.ล.ต.มีแนวคิดในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน* เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการทุกขนาด รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) สามารถระดมทุนผ่านตราสารประเภทนี้ได้ ผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิ้ง (crowdfunding) และการเสนอขายในวงจำกัด รวมถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับตราสารกลุ่มความยั่งยืน

เพื่อให้สอดคล้องกลับมาตรฐานสากล โปร่งใส ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจและเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยได้เปิดรับฟังความเห็นและจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (focus group) จากผู้เกี่ยวข้องเมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 ซึ่งผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางที่เสนอ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาประกอบการพิจารณายกร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น การขยายเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพสำหรับบริษัทจำกัด (PP-SMEs)** ให้รองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (social bond) หรือตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond)

Advertisment

และการกำหนดหน้าที่ของผู้ออกตราสาร (issuer) ในการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานต่อผู้ลงทุน โดยคำนึงถึงภาระของ issuer ที่เสนอขายในวงจำกัด เพื่อส่งเสริมการระดมทุนให้กับ SMEs และ startup รวมถึงธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ให้สามารถเร่งปรับตัวและมีส่วนร่วมกับการพัฒนาธุรกิจในมิติความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อกลยุทธ์และการประกอบธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero)

ก.ล.ต.จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว โดยเผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=958 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] จนถึงวันที่ 16 มกราคม 2567