กองทุนแบบไหนเหมาะกับเรา Passive Fund หรือ Active Fund ?

กองทุน
บทความโดย "พัชรินธ์ อีริคสัน" 
CFA, CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 22 มกราคม 2567 หากเอ่ยถึงรูปแบบกองทุนรวม นักลงทุนคงคุ้นเคยกับกองทุนแบบเชิงรับ (Passive Fund) และกองทุนแบบเชิงรุก (Active Fund)

Passive Fund เป็นกองทุนที่มุ่งสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงมากที่สุด ในขณะที่ Active Fund จะมีผู้จัดการกองทุนบริหารพอร์ตลงทุนเพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง

จากคำกล่าวดังกล่าว นักลงทุนหลายคนอาจตัดสินใจว่าควรเลือก Active Fund เพราะมีผู้เชี่ยวชาญเฟ้นหาการลงทุนที่ดีที่สุดให้เรา ผลตอบแทนน่าจะมากกว่า Passive Fund ที่ไม่ได้ทำอะไร แต่จริง ๆ แล้ว อาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน เช่น ความแตกต่าง ข้อดี ข้อเสีย ผลตอบแทน เพื่อค้นหาคำตอบว่ากองทุนแบบไหนที่เหมาะกับเรา

Passive Fund vs. Active Fund

กองทุนแบบเชิงรับ (Passive Fund) หรือกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) เป็นกองทุนที่มุ่งสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีมากที่สุด เช่น SET, SET100, SET50 เป็นต้น โดยนักลงทุนสามารถสังเกตได้จากชื่อของกองทุนประเภทนี้ว่า มักจะมีชื่อของดัชนีอยู่ด้วย

สำหรับการบริหารกองทุน ผู้จัดการกองทุนจะจัดพอร์ตลงทุนให้เหมือนดัชนีที่สุด เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน โดยไม่จำเป็นต้องเฟ้นหา “หุ้นทีดีที่สุด” หรือหลีกเลี่ยง “หุ้นแย่ ๆ” เพื่อที่จะชนะตลาด

ดังนั้น กองทุนประเภทนี้จะเคลื่อนไหวไปตามตลาดไม่ว่าตลาดจะดีหรือแย่ ซึ่งสามารถมองได้ 2 ด้าน คือ กองทุนจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องฝืมือผู้จัดการกองทุน แต่ถ้าตลาดหุ้นเป็นขาลง ผู้จัดการกองทุนก็ไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกัน นอกจากลงทุนตามดัชนี

กองทุนแบบเชิงรุก (Active Fund) จะมีผู้จัดการกองทุนบริหารพอร์ตลงทุนเพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิงให้ได้ โดยใช้กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย และมีการเฟ้นหาสินทรัพย์เพื่อมุ่งหวังจะชนะตลาด

ข้อมูลดังล่าว อาจดูเหมือนว่า Active Fund จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า Passive Fund เพราะมีผู้เชี่ยวชาญบริหารสินทรัพย์ แต่จริง ๆ แล้ว ผลตอบแทนของกองทุน Active Fund จะอาศัยความสามารถของผู้จัดการกองทุน

จึงมีโอกาสที่ผู้จัดการกองทุนจะสร้างผลตอบแทนชนะหรือแพ้ดัชนีก็ได้ และเมื่อกองทุนประเภทนี้มักมีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการในระดับสูง (บางกองอาจสูงกว่า 2%) ซึ่งยิ่งค่าธรรมเนียมสูงขึ้นเท่าไหร่ หมายความว่าผู้จัดการกองทุนต้องสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีมากขึ้นเท่านั้น เพื่อชดเชยกับค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ อยากให้นักลงทุนตระหนักว่าค่าธรรมเนียมที่เห็นว่าไม่กี่ % ต่อปี สามารถกัดกินมูลค่าหรือผลตอบแทนที่ควรจะได้ในระยะยาว

ตัวอย่าง

เริ่มต้นลงทุน 100,000 บาท ในกองทุนหุ้น 2 กองทุนคือ Active Fund ที่มีค่าธรรมเนียมการจัดการปีละ 2.0% และ Passive Fund ที่มีค่าธรรมเนียม 0.5% ต่อปี โดยทั้ง 2 กองทุนให้ผลตอบแทน 7% ต่อปี เท่ากัน เมื่อผ่านไป 20 ปี จะมีมูลค่าใน Active Fund ที่ 265,330 บาท แต่มูลค่าใน Passive Fund จะสูงถึง 352,365 บาท หรือมากกว่า active fund ถึง 33%

กองทุนแบบเชิงรับ (Passive Fund) กองทุนแบบเชิงรุก (Active Fund)
นโยบายการลงทุน มุ่งสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงมากที่สุด มุ่งสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิงมากที่สุด
กลยุทธ์การลงทุน ลงทุนตามดัชนีอ้างอิง ขึ้นกับการบริหารพอร์ตลงทุนของผู้จัดการกองทุน
ค่าธรรมเนียม ต่ำกว่า สูงกว่า
ลักษณะความเสี่ยง และผลตอบแทน ผลตอบแทน และความผันผวนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ผลตอบแทน และความผันผวนอาจสูงกว่า หรือ ต่ำกว่า ดัชนีอ้างอิงก็ได้ ขึ้นกับการบริหารพอร์ตลงทุน

 

ผลตอบแทน Passive Fund vs. Active Fund

นักลงทุนอาจคิดว่า Active Fund ให้ผลตอบแทนสูงกว่า Passive Fund เพราะมีการบริหารพอร์ตลงทุนแบบเชิงรุก แต่เมื่อดูข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่ากองทุนรวมส่วนใหญ่นั้น ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด

  • กองทุนหุ้นสหรัฐ ขนาดใหญ่เพียง 8.59% เท่านั้นที่ชนะดัชนี S&P 500
  • กองทุนหุ้นยุโรป 10.30% เท่านั้นที่ชนะดัชนี S&P Europe 350
  • กองทุนหุ้นญี่ปุ่น 18.06% เท่านั้นชนะดัชนี S&P/TOPIX 150
  • กองทุนหุ้นอินเดีย 32.09% ชนะดัชนี S&P BSE100
  • กองทุนหุ้นอินเดียขนาดกลาง-เล็ก 50% ชนะดัชนี S&P BSE 400 Mid-SmallCap Index (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566)

จะเห็นได้ว่า กองทุนส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนแพ้ตลาด โดยเฉพาะกองทุนของตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐ ที่มีนักวิเคราะห์ หรือนักลงทุนจำนวนมากแข่งขันกันเพื่อหาหุ้นที่ดี ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือน ๆ กัน จนสุดท้ายแทบไม่มีใครเลยที่สามารถชนะตลาดได้

กองทุนแบบไหนเหมาะกับเรา

เมื่อนักลงทุนเข้าใจแล้วว่า Active Fund มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง หรือ ต่ำกว่าตลาดก็ได้ ดังนั้น ควรเลือก Active Fund ก็ต่อเมื่อมั่นใจในฝีมือผู้จัดการกองทุนว่าสามารถสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้จริง ๆ หรือเชื่อในสไตล์การลงทุนของกองทุนนั้นว่าจะชนะตลาดได้ในสภาวะตลาดช่วงนั้น เช่น ลงทุนในกองทุนหุ้นคุณภาพ (Quality) ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เป็นต้น

ทั้งนี้ นักลงทุนต้องมีการติดตามตลาด สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงผลการดำเนินงานและพอร์ตลงทุนของกองทุนอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าวันใดที่ผู้จัดการกองทุน หรือกลยุทธ์การลงทุนนั้นเปลี่ยนไป สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไป นักลงทุนก็จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตลงทุนตาม

แต่ถ้าเป็นนักลงทุนคนหนึ่งที่อยากลงทุนระยะยาว ไม่ได้มีข้อมูลของผู้จัดการกองทุน หรือไม่ได้เวลามาติดตามผลการดำเนินงานหรือพอร์ตลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควรเลือกกองทุน Passive fund เพื่อเพิ่มความมั่นใจได้ว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจะใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี/ตลาด โดยไม่มีความเสี่ยงเรื่องฝีมือของผู้จัดการกองทุน อีกทั้งค่าธรรมเนียมยังต่ำกว่ามาก