ก.ล.ต.จ่อคุม 20 บจ. ฟรีโฟลตต่ำ แขวนป้ายเตือนเกณฑ์ใหม่ 1 เม.ย.

พรอนงค์ บุษราตระกูล
พรอนงค์ บุษราตระกูล

ก.ล.ต. จับตาบริษัทจดทะเบียนกว่า 20 บริษัท ฟรีโฟลตไม่เป็นตามเกณฑ์ เล็งขึ้นเครื่องหมาย CF 1 ปี รวมทั้งขึ้นเครื่องหมาย C เพิ่มเติม บริษัทขาดทุน 3 ปีติด-ผิดนัดหุ้นกู้-รายได้ทรุดต่อเนื่อง มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2567

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. มุ่งสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือ (Trust & Confidence) ให้กลับมาสู่ตลาดทุนไทยโดยเร็ว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา บอร์ด ก.ล.ต. ก็ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งองคาพยพตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเสนอไปแล้ว

ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกัน โดย ก.ล.ต. จะมีการเพิ่มในการขึ้นเครื่องหมาย C เพิ่มเติม จากเดิมที่มีการขึ้นเครื่องหมายอยู่แล้ว ได้แก่ สัดส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว, ศาลรับคำร้องยื่นฟื้นฟูกิจการ, ศาลรับคำร้องล้มละลาย, หน่วยงานกำกับดูแลมีคำสั่งปิดหรือหยุดชั่วคราว เหล่านี้ก็จะถูกขึ้นเครื่องหมาย C ที่เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าบริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะมีการเพิ่มการขึ้นเครื่องหมาย C เพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ 1. สัดส่วนนักลงทุนรายย่อย (Free Float) ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ จะถูกขึ้นเครื่องหมาย CF เวลา 1 ปี และหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้จะขึ้นเครื่องหมาย SP อีก 1 ปี ก่อนจะนำไปสู่เหตุเพิกถอน ซึ่งตอนนี้มีอยู่กว่า 20 บริษัท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567

Advertisment

2. บริษัทจดทะเบียนที่มีผลประกอบขาดทุนสุทธิ 3 ปีติดต่อกัน จนส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่าทุนชำระแล้วโดยดูจากงบการเงินปีล่าสุด

3. การผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงิน/หุ้นกู้ อ้างอิงข้อมูลสมาคมตลาตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) ปลดเครื่องหมาย C ก็ต่อเมื่อ บริษัทจดทะเบียนทำให้เหตุผิดนัดชำระหมดไป เช่น Thai BMA ปลอดเครื่องหมาย DP/FP หรือมีการประนอมหนี้กับสถาบันการเงินสำเร็จ

4. บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ที่มีรายได้จากการดำเนินงานประจำปีน้อยกกว่า 100 ล้านบาท และ 50 ล้านบาท 3 ปีติดต่อกัน ก็จะเป็นเหตุของการขึ้นเครื่องหมาย และนำไปสู่เหตุเพิกถอน

  1. ปรับปรุงงบการเงินที่ไม่แสดงความเห็นทุกกรณี โดยพิจารณาจากงบฯไตรมาสและงบฯปีล่าสุด

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มความชัดเจนและเกณฑ์ที่เข้มขึ้นในการเพิกถอนบริษัทที่มีปัญหา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2567 รวมถึงยังมีการทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

Advertisment

รวมทั้งได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ศึกษาแนวทางการออกเกณฑ์ Auto Halt หรือหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวสำหรับหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ โดยคาดว่าจะมีการออกหลักเกณฑ์และนำมาปฏิบัติได้ภายในปี 2567