เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง จับตา 5 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

จับตาค่าเงินบาท
REUTERS/ Athit Perawongmetha

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง ขณะที่หุ้นไทยปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้จะผันผวนระหว่างสัปดาห์ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของญี่ปุ่น อังกฤษและยูโรโซน รวมถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของ บจ.ไทย

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่งที่ 35.98 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทอ่อนค่าลงตามสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ซึ่งออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด

แต่เงินบาทสามารถฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงต่อมาตามเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นช่วงสั้น ๆ รับสัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพตลาดหุ้นของทางการจีน ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินบาทเพื่อปรับโพซิชั่นก่อนการประชุม กนง. กลางสัปดาห์

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังผลการประชุม กนง. ซึ่งมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% และได้ปรับลดตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมา

นอกจากนี้เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินเยน หลังจากผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะ แม้อาจจะมีการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในระยะข้างหน้า ขณะที่เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นรับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่สะท้อนว่า จังหวะการลดดอกเบี้ยของสหรัฐ อาจไม่เกิดขึ้นเร็ว เนื่องจากเฟดต้องการมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

กราฟค่าเงินบาท-kresearch-01

ในวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ก.พ. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 5-9 ก.พ. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,028 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,917 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 9,917 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2,000 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าเฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตและตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือน ม.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.พ. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของญี่ปุ่น อังกฤษและยูโรโซน และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค.ของอังกฤษด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,400 จุดได้ช่วงสั้น ๆ กลางสัปดาห์ ก่อนจะย่อตัวลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หุ้นไทยทยอยขยับขึ้นในช่วงก่อนการประชุม กนง. โดยมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีกที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และกลุ่มพลังงานที่มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก

กราฟหุ้นไทย-kresearch-02

หุ้นไทยขยับขึ้นต่อเนื่องมายืนเหนือระดับ 1,400 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ หลังกนง.มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ย และปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า มีโอกาสที่จะเห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยมีการขายทำกำไรหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม อนึ่ง ปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเบาบางในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับการปิดทำการของตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาคในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ในวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,388.37 จุด เพิ่มขึ้น 0.31% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,972.37 ล้านบาท ลดลง 3.77% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.78% มาปิดที่ระดับ 416.29 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,380 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของ บจ. ไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือน ม.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2566 ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและอังกฤษ ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และอังกฤษ