ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งปีนี้ ชี้เศรษฐกิจโตต่ำ-เงินเฟ้อหลุดกรอบ

เงินบาท ค่าเงินบาท ดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง.จ่อลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เริ่มลดนัดแรกเดือน มิ.ย.นี้ หลังเสียงแตกคงดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี สะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจโตต่ำ หั่นจีดีพีเหลือโต 2.5-3.0% เงินเฟ้อยังไม่กลับเข้ากรอบต่ำกว่า 1% มองดอกเบี้ยที่แท้จริงควรอยู่ 1-2% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัจุบันสูงถึง 3.6% กระทบกำลังซื้อ-ภาระหนี้สูงขึ้น

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไว้ที่ระดับ 2.50% ต่อปี และมีคณะกรรมการฯ อีก 2 เสียงที่ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ

ทั้งนี้ จากสัญญาณการประชุม กนง.และมติเสียงที่ออกมาดังกล่าว ศูนย์วิจัยฯ มองว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ภายในเร็ว ๆ นี้ โดยมองว่าจะมีการปรับลดได้อย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มเห็นการปรับลดในช่วงกลางปี หรือในรอบการประชุมในเดือนมิถุนายน แต่ก็มีโอกาสเห็นการปรับลดในเดือนเมษายนได้เช่นกัน

โดยปัจจัยที่เป็นแรงกดดันให้ กนง.มีการปรับลดอัตราดอกเบนโยบาย จะประกอบด้วย คือ 1.อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดการณ์และหลุดกรอบประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคาดว่าจะกลับเข้ากรอบได้ภายในปี 2568 และ 2.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่จะต่ำกว่าคาด

ซึ่งได้มีการปรับกรอบประมาณการลงมาแล้วในปี 2567 จากเดิมที่ขยายตัว 3.2% ลงมาอยู่ในกรอบ 2.5-3.0% และในปี 2566 ก็คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 2% ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องพยายาม Mandate นโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบ

ขณะเดียวกัน หากดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ราว 3.6% ถือว่าค่อนข้างสูง และสูงกว่าประเทศอื่นค่อนข้างเยอะ และไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจ โดยมองว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยควรจะอยู่ที่ราว 1-2% เพราะเศรษฐกิจไทยโตไม่สูง เช่น ปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 1.8% ดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ควรเกิน 1-2% ถ้าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหากดูดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐ อยู่ที่ประมาณ 2% แต่เศรษฐกิจที่สหรัฐ ดีกว่าไทยมาก มองว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ กนง.อาจจะต้องมาดูและทบทวน

“กรณีที่เสียงแตก 5 ต่อ 2 เสียง สะท้อนว่าโอกาสที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยได้ และก็คงจะเห็นแล้วว่าเงินเฟ้อที่ตัวเองประเมินไว้สูงเกินไป จากที่เคยมองไว้ 2% ตอนนี้เหลือ 1% ซึ่งหลาย ๆ อย่างก็เปิดทางให้ กนง.พร้อมจะลดดอกเบี้ย แต่อาจจะหาจังหวะดูความชัดเจนของดิจิทัลวอลเลตก่อน เพราะหากดิจิทัลวอลเลตไม่ผ่าน และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยแล้ว อาจจะเป็น 2 ปัจจัยสนับสนุนในการลดดอกเบี้ย เพราะดิจิทัลวอลเลตไม่มาก็ไม่มีความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ

แต่รอบการประชุมเดือนเมษายนจะบอกเราเองว่าค่าย 5 เสียงที่มองว่าเศรษฐกิจยังดี กับค่าย 2 เสียงมองว่าเศรษฐกิจไม่โอเค ซึ่งหากตงดอกเบี้ยในระดับสูงย่อมกระทบกำลังซื้อ ความมั่นใจของคน และภาระหนี้ที่สูงขึ้นด้วย”