“สันติธาร” แนะไทยใช้สูตร 3 M สู่เศรษฐกิจสีเขียว เร่งหา Green for Growth ให้เจอ 

สันติธาร เสถียรไทย
สันติธาร เสถียรไทย

“สันติธาร” สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เผย 4 ฟั่นเฟืองหลักขับเคลื่อนไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว ชี้นักลงทุนทั่วโลกแห่ลงทุนในบริษัทความยั่งยืนกว่า 121 ล้านล้านดอลลาร์ ด้านผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินเพิ่ม 12% กดดันธุรกิจเร่งปรับตัว แนะไทยใช้สูตร 3 M พร้อมหา Green for Growth เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ-อย่ามองเรื่อง Green เป็นต้นทุน 

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อเสวนา “Thailand Green Future” ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ว่า การผลักดันสู่เศรษฐกิจสีเขียวเป็นเรื่องที่มาแรงและไปได้อย่างยั่งยืน

โดยจะประกอบด้วย 4 ฟั่นเฟืองสำคัญ ได้แก่ 1. Green Capital ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกได้หันมาลงทุนอย่างรับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะในบริษัทใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งรวมมูลค่ากว่า 121 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก

ดังนั้น หากบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไม่ใส่ใจในด้านความยั่งยืน จะทำให้หุ้นตัวนั้นมีความเสี่ยง ถือเป็นแรงกดดันต่อบริษัทใหญ่ในการปรับตัว รวมถึงซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่เหล่านี้ก็จำเป็นต้องสีเขียวเช่นกัน ซึ่งทำให้ Green Capital จะมีผลกระทบและจะมีความเข้มข้นมากขึ้น

2. Green Consumer ซึ่งมีการศึกษาพบว่าผู้บริโภคยอมจ่ายเพิ่ม 12% หากบริษัทหรือสินค้านั้นใส่ใจด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ดี การจ่ายเพิ่ม 12% ถือเป็นค่าเฉลี่ย โดยจะมีกลุ่มคนที่ยอมจ่ายและไม่ยอมจ่าย ดังนั้น บริษัทที่จะผลิตสินค้าจะสามารถหาตลาดคนที่ยอมจ่ายได้อย่างไร

3. Technology ซึ่งเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาค่อนข้างเร็ว จะส่งผลให้ของที่สามารถผลิตหรือทำงานในด้านพลังงานง่ายขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งในระยะต่อไปเทคโนโลยีช่วยให้การผลิตทำได้ง่ายขึ้น จะทำให้ต้นทุนหรือราคาปรับลดลงได้

และ 4. Governance เป็นเรื่องสำคัญและเป็นตัวหลัก เพราะหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาจจะกระทบต่อผู้บริโภคที่ยอมจ่ายเพิ่ม 12% อาจจะไม่ยอมจ่าย หรือตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนอาจจะปรับเปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นที่ดีแทนได้ ดังนั้น นโยบายภาครัฐถือเป็นเรื่องสำคัญ

เช่น สหภาพยุโรปออก European Green Deal และบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ที่มีการเก็บภาษีตามปริมาณ Carbon Footprint ของสินค้าต่าง ๆ จะส่งผลต่อการทำธุรกิจมากขึ้น โดยไทยจะหนักในกลุ่มสินค้าเหล็ก และอลูมิเนียม และต่อไปจะขยายไปสู่เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี ซึ่งเกณฑ์จะกว้างมากขึ้น และทำกันทั่วโลก หรือ IRA ของสหรัฐที่สนับสนุนธุรกิจสะอาดเข้ามาทดแทน ดังนั้น นโยบายสีเขียวจะเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่สีเขียวจะเจอกำแพงที่สูงขึ้น

Green for Growth

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเรื่อง Green จะมีคำว่า 3 M ด้วยกันคือ 1.Mind-Set อย่ามองว่าเรื่อง Green จะเป็นต้นทุน หรือทำให้เป็นสีเขียวโดยใส่ ๆ  เข้าไป แต่จะต้องดูเรื่องของ Green for Growth ด้วย ซึ่งไม่ใช่แต่ภาคท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงในเซ็กเตอร์ต่าง ๆ โดยจะต้องหันมาเน้นด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ

และ 2.Management Structure เป็นการบริหารงานที่ต้องประสานกันทั้งหมด เหมือนการ Transformation ซึ่งเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่จะต้องถูกต้อง และ 3.Measurement การวัดผล ซึ่งระดับองค์กรว่าการมุ่งสู่ Green ได้ทำอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมแล้วกี่ครั้ง อะไร อย่างไร แต่ในระดับประเทศจะต้องสามารถวัดผลได้ด้วย ว่าปีที่แล้วไทยสามารถทำเรื่อง Green ไปแล้วเท่าไร และในปีนี้จะต้องทำอะไร

“จุดเริ่มต้นเราต้องหา Green กับ Growth ให้ได้ เพราะไปด้วยกันได้ เพราะหากมี Green ทำให้เกิด Growth ได้ เช่น ภาคการท่องเที่ยวก่อนโควิด-19 เข้ามา 40 ล้านคน แต่หากดูอันดับการรักษาสิ่งแวดล้อมเรารั้งท้าย ซึ่งหากดูสัดส่วนนักท่องเที่ยว 80% กระจุกตัวอยู่ใน 4-5 จังหวัด และ 75% ของนักท่องเที่ยวให้ความใส่ใจความยั่งยืน

ดังนั้น หากเราสามารถพัฒนาโปรดักต์ในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองจะถูกนักลงทุน และไทยจะได้ 3 อย่างคือ แหล่งท่องเที่ยวดีขึ้น กระจายรายได้ และเรามี Growth Engine ใหม่ โดยภาพรวมจะเห็น Green for Growth”