
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตา โดยในส่วนของดอกเบี้ยนั้น ส่วนใหญ่ก็อยากเห็นการปรับลดลง ส่วนค่าเงินบาท ก็ควรจะมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนจนเกินไป อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า เงินบาทในปีนี้จะอยู่ในโทนที่แข็งค่าขึ้น แต่ถึงปัจจุบันอาจจะไม่ได้แข็งอย่างที่คาด
บาทอ่อนยวบตั้งแต่ต้นปี
“รุ่ง สงวนเรือง” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทจากต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 15 ก.พ.) อ่อนค่าแล้ว 5.6% เป็นระดับที่ “อ่อนค่ามากที่สุด” ในภูมิภาค โดยปีนี้เงินทุนเคลื่อนย้ายยังไหลออกจากตลาดหุ้น จนถึง ณ 15 ก.พ. ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้ว 31,901 ล้านบาท และขายสุทธิตราสารหนี้ (บอนด์) ไทย 29,969 ล้านบาท รวมแล้ว 61,870 ล้านบาท
“ตอนนี้เรารอดูตัวเลข GDP ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะแถลงในวันที่ 19 ก.พ.นี้ก่อน จึงจะพิจารณาว่าจะต้องปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้หรือไม่ จากเดิมที่มองไว้ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ เพราะมองว่าปีนี้จะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีแนวโน้มที่เงินบาทจะอ่อนค่ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม”
“กสิกรไทย” ปรับคาดการณ์ใหม่
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ห้องค้ากสิกรไทยได้ปรับคาดการณ์ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2567 เป็นระดับ 35.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คาดที่ 34 บาท/ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยสำคัญคือ 1) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐกับไทยที่มีแนวโน้มกว้างกว่าที่เคยประเมิน
จากโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยลงในปีนี้มีเพิ่มขึ้น ขณะที่โอกาสการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดลงต่อเนื่อง 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เปราะบางที่มีแนวโน้มกดดันค่าเงินหยวน และ 3) ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่อาจเผชิญความท้าทายกว่าที่เคยประเมิน
ทั้งนี้ ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของ ธปท.มากขึ้น จากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และติดลบต่อเนื่องใน 4 เดือนล่าสุด รวมกับการสื่อสารของ ธปท. ที่สะท้อนโอกาสการลดดอกเบี้ย ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เดิม อีกทั้งแรงหนุนจากมาตรการดิจิทัลวอลเลตที่ดูมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงไปทุกที
คาด ธปท.ลดดอกเบี้ย 0.25%
“ห้องค้ากสิกรไทย ปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทมาอยู่ที่ 35.20 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปีนี้ อ่อนค่ากว่า 34 บาท/ดอลลาร์ ที่ได้ประเมินเมื่อกลางเดือน พ.ย. 2566 และมีโอกาสที่จะอ่อนค่าแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างทาง ส่วนดอกเบี้ยคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงมาที่ 2.25% ณ สิ้นปีนี้ จากเดิมเคยคาดไว้ที่ 2.5%”
นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า ระหว่างปีเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 37 บาท/ดอลลาร์ได้ จากปัจจัยกดดันด้านฤดูกาล ได้แก่ ฤดูกาลท่องเที่ยวในประเทศไทยที่จะสิ้นสุดหลังไตรมาสที่ 1 นำไปสู่ความต้องการเงินบาทที่น้อยลง และฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ซึ่งจะนำไปสู่การไหลออกของเงินทุน
“EIC” มองบาททยอยแข็งค่าได้
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงต้นปี แต่แรงกดดันเงินบาทอ่อนค่าจะลดลง
เนื่องจากตลาดรับรู้ (Price out) การลดดอกเบี้ยของเฟดออกไปมากแล้ว และแรงกดดันด้านอ่อนค่าของสกุลเงินหลักในภูมิภาคจะลดลง ทั้งนี้ SCB EIC ยังคงมุมมองเงินบาทจะทยอยแข็งค่าได้สู่ระดับ 32.50-33.50 ณ สิ้นปีนี้
นอกจากนี้ SCB EIC คาดว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ สาเหตุจาก 1) เศรษฐกิจและเงินเฟ้อแผ่วลงมากในปีนี้ เช่น หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเหลือ 2.5% และแนวโน้มเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบ 1-3% มาก
และ 2) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (Neutral rate) ที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ควรมีระดับต่ำลงกว่าที่เคยประเมินเอาไว้
“สะท้อนจากมติ กนง. ไม่เป็นเอกฉันท์ในผลการประชุมวันที่ 7 ก.พ. 2567 ที่เริ่มคำนึงถึงประเด็นนี้”