ความผันผวนของค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร ในปี 2024 ?

ค่าเงินบาท
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : จงรัก ก้องกำชัย กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, CFA ธนาคารกสิกรไทย

ค่าเงินบาทในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความผันผวนสูงกว่าปกติ โดยหากพิจารณาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงก่อนและระหว่างวิกฤตโควิดแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างวันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 สตางค์

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทระหว่างวันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวมาอยู่ที่ประมาณ 20 สตางค์ในปี 2022 และ 2023 โดยมีปัจจัยกดดันหลักจากการเปลี่ยนทิศทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี 2022 และการสื่อสารของเฟดที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดต่อเนื่องตลอดปี 2023

ประกอบกับปัจจัยกดดันจากภายในประเทศไทยเอง ทั้งจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าคาด และความกังวลเกี่ยวกับฐานะการคลังที่นำไปสู่การไหลออกของเงินทุนขนาดใหญ่ในปี 2023

ค่าเงินบาทยังคงเห็นความผันผวนต่อเนื่องมายังช่วงต้นปี 2024 โดยการเคลื่อนไหวเฉลี่ยระหว่างวันในเดือนมกราคมมีขนาดกว้างขึ้นมาอยู่ที่ 23 สตางค์ ซึ่งมีปัจจัยกดดันหลักจากการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของเฟดอีกครั้ง แต่ในทิศทางการลดดอกเบี้ยลง และด้วยจุดเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดที่จะยังมีความไม่แน่นอนสูง

การเคลื่อนไหวค่าเงิน

ทั้งในเรื่องของช่วงเวลาและขนาดของการลดอัตราดอกเบี้ยนี้ ส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐก็จะยังผันผวนสูงอยู่เช่นกัน โดยคาดว่าความผันผวนจากปัจจัยดังกล่าวจะอยู่กับเราไปอย่างน้อยตลอดไตรมาส 1 ก่อนที่ความชัดเจนของทิศทางดอกเบี้ยเฟดจะมีมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี เรามองว่ามีโอกาสสูงที่จะยังเห็นค่าเงินบาทยังผันผวนในระดับสูงต่อเนื่องไปในไตรมาส 2 ส่วนหนึ่งจากปัจจัยด้านฤดูกาลในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่เป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากความต้องการซื้อดอลลาร์สหรัฐและขายเงินบาท เพื่อส่งเงินปันผลกลับไปต่างประเทศ

นอกจากนี้ จะยังมีแรงกดดันจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ และแม้ทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมา แต่ยังไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้ ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่ผลของมาตรการจะส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจ

ดังนั้น ในระยะสั้นค่าเงินหยวนอาจยังเผชิญแรงกดดัน และส่งผลต่อค่าเงินเอเชีย รวมถึงค่าเงินบาทให้อาจผันผวนในระยะสั้นด้วย

ความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าจะทยอยปรับน้อยลง จากความชัดเจนของทิศทางนโยบายของเฟดที่จะมีมากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน คาดว่าจะเริ่มส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยผันผวนภายในประเทศเอง คาดว่าจะไม่ได้มีมากเท่าปีก่อน

โดยเราประเมินว่าค่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34.00 ณ สิ้นปี 2024