นักลงทุนผิดหวังอย่างแรง “เฟด” ปิดประตูหั่นดอกเบี้ย มี.ค.

นักลงทุน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม 5.25-5.50% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2024 พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะยังไม่มีการลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ตามที่ตลาดบางส่วนคาดหมาย เนื่องจากต้องการมั่นใจมากกว่านี้ ว่าเงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่ทำให้แน่ใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 2%

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด บอกกับผู้สื่อข่าวว่า มีแนวโน้มว่าคณะกรรมการจะยังไม่สบายใจเพียงพอต่อเส้นทางของเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ดังนั้น จึงไม่คิดว่าคณะกรรมการจะมีระดับความมั่นใจไปถึงจุดที่จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม เงินเฟ้อยังสูงเกินไป แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อ 6 เดือนที่ผ่านมามีทิศทางดีขึ้น เศรษฐกิจแข็งแกร่ง อัตราว่างงานเพียง 3.7% บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานแข็งแกร่ง “หากพูดกันตรง ๆ นี่เป็นเศรษฐกิจที่ดีทีเดียว” ประธานเฟดระบุ

อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดย้ำว่า ณ เวลานี้เฟดจะยังไม่ประกาศชัยชนะว่าประสบความสำเร็จในการทำให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างนิ่มนวล หรือซอฟต์แลนดิ้ง โดยไม่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าหากดูจากความก้าวหน้าของหลาย ๆ 
ปัจจัยแล้ว ตนค่อนข้างมีความหวังว่าจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม พร้อมกันนี้เฟดไม่ได้รับปากว่าหากมีการลดดอกเบี้ยครั้งแรกแล้วจะลดอีกหลายครั้งในปีนี้ โดยระบุว่าขึ้นอยู่กับข้อมูลในเวลานั้น

จากแถลงการณ์ของคณะกรรมการ มีถ้อยความที่บ่งชี้ว่าปิดประตูในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป แต่ยังไม่พร้อมจะลดดอกเบี้ย และหากอ่านจากคำพูดของประธานเฟดเป็นการส่งสัญญาณไปยังตลาดว่า จุดยืนแบบนี้ของเฟดจะดำรงต่อไปจนกว่าจะมีการประชุมอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

บิล อดัมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ โคเมริกา แบงก์ ระบุว่า เฟดต้องการหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดซ้ำสอง จึงจะไม่ลดดอกเบี้ยจนกว่าจะแน่ใจเต็มที่ว่าเงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย 2% เพราะในช่วงปี 2021 และ 2022 เฟดผิดพลาดมากเมื่อคิดว่าเงินเฟ้อสูงจะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่กลายเป็นว่าเงินเฟ้อยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ และยืนระยะอยู่อย่างนั้นนานกว่าที่เฟดคาด

ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงหลังจากผิดหวังผลการประชุมเฟดที่ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 317.01 จุด หรือ 0.82% ปิดตลาดที่ 38,150.30 จุด เอสแอนด์พี 500 ปรับลง 79.32 จุด หรือ 1.61% ปิดที่ 4,845.65 จุด แนสแดค ร่วง 345.89 จุด หรือ 2.23 % ปิดที่ 15,164.01 จุด

คีธ เลิร์นเนอร์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดของทรัสต์เวลท์ ในแอตแลนตา ให้ความเห็นว่า ประธานเฟดกำลังทำในสิ่งที่เรียกว่า “รักษาความยืดหยุ่น” เพราะยังมีข้อมูลบางอย่างรออยู่ข้างหน้า ขณะเดียวกัน ก็บอกเป็นนัยว่าเฟดพร้อมจะผ่อนคลายการเงินลงในระยะข้างหน้า แต่การที่เขาแสดงออกอย่างชัดเจนและทรงพลังว่าไม่มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคมนี้ จึงกลายเป็นปัจจัยลบต่อตลาด จะเห็นว่าหุ้นขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากที่สุดทันทีหลังจากพาวเวลล์พูดอย่างนั้นกับผู้สื่อข่าว

ถึงแม้ผู้เล่นในวอลล์สตรีตบางคนเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐอาจถดถอย แต่ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไม่เพียงไม่สะดุดเท่านั้น แต่ยังเติบโตดีกว่าจี 7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยด้วยกัน โดยไตรมาส 4 ปีที่แล้วจีดีพีสหรัฐขยายตัว 3.3% สูงกว่าตลาดคาดที่ 2% อย่างมาก

ขณะที่กลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร จีดีพีเติบโตเพียง 0.1% ในไตรมาส 3 ปี 2023 ส่วนสหรัฐเติบโตถึง 4.9% ในไตรมาสเดียวกัน และหากดูการเติบโตสะสมของจีดีพีนับจากไตรมาส 4 ปี 2019 สหรัฐเติบโต 7.4% ขณะที่แคนาดา อิตาลี เติบโตระหว่าง 3-4% ส่วนญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี เติบโต 2.4% 1.8% 1.8% และ 0.3% ตามลำดับ

การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดจากการขยายตัวของทั้งภาคการบริโภค การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ การส่งออก ซึ่งรัสเซลล์ ไพรซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอเมริไพรส์ ชี้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ดีกว่าคาดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ส่วนปีนี้แม้คาดว่าจะชะลอตัวลงบ้าง แต่เชื่อว่าผู้บริโภคอเมริกันจะยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตแข็งแกร่งต่อไป เนื่องจากผู้บริโภค
ยังมีเงินจับจ่าย