กสิกรไทย คาดปีนี้ปล่อยกู้ความยั่งยืนแตะ 1 แสนล้าน หนุนเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว

พิพิธ เอนกนิธิ
พิพิธ เอนกนิธิ

ธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อยั่งยืน 2 แสนล้านบาทภายในปี 2573 เล็งปีนี้แตะ 1 แสนล้านบาท ลุยช่วยลูกค้า 4 กลุ่มหลัก คาดอีก 6 ปี พลังงานลม-โซลาร์ สัดส่วนขึ้นเท่ากับพลังงานฟอสซิล ล่าสุดจัดสัมมนา “RETHINK SUSTAINABILITY : A CALL TO ACTION FOR THAILAND” รับมือการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแห่งความยั่งยืน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน และเป็นผู้นำด้าน ESG ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าภายในปี 2573 จะปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท จากปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 7.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อแตะราว 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารจะเน้นการเปลี่ยนผ่านใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มถ่านหิน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มพลังงาน รวมถึงกลุ่มอื่น ๆ ที่จะสามารถลดลงได้ ซึ่งไม่มีกลุ่มไหนที่ธนาคารจะปฏิเสธสินเชื่อได้ โดยธนาคารคาดว่าภายใน 6 ปีข้างหน้า สัดส่วนกลุ่มพลังงานลมและโซลาร์จะเข้ามาทดแทนพลังงานจากฟอสซิสได้ในสัดส่วน 50:50

“ธนาคารจะช่วยให้ Loser ให้สามารถ Transition ไปด้วยกัน เพื่อเป็น Winner ไม่ต้องมี Loser โดยธนาคารจะสนับสนุนไฟแนนซ์เชียล และการลงทุนกับลูกค้า โดยจะเห็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อกรีนโลน และอื่น ๆ ทยอยออกมามากขึ้น ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในของธนาคารเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และยกระดับมาตรฐานสู่สากล รวมทั้งพัฒนาบริการที่มากกว่าบริการทางการเงิน (Beyond Banking Solutions) เพื่อช่วยให้ลูกค้าปรับตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น ลูกค้าเอสเอ็มอีที่จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ CBAM อย่างไรก็ดี หากเราร่วมมือกับลูกค้า พันธมิตร และผู้กำหนดนโยบาย Policy Marker และภาครัฐไปด้วยกัน จะสามารถทำให้เราเป็นผู้ชนะได้”

นายอูแบร์ เคลเลอร์ Senior Managing Partner, Lombard Odier กล่าวว่า เราอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ซึ่งมาพร้อมโอกาสในการลงทุนอย่างมหาศาล ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยหันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ซึ่งจากการประชุม COP28 เห็นได้ชัดว่าทรัพยากรมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับโลก ระบบอาหาร ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยใช้แนวทางการฟื้นฟูธรรมชาติจะสามารถช่วยให้เราก้าวข้ามระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันได้ ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทย เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมศักยภาพ และเร่งให้เกิดแนวทางการปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งกับภาคเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และชุมชน

“ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วขึ้น ราคาต่ำลง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนไปได้เร็วด้วย โดย 4 กลุ่มหลัก ก็จะมีเรื่องของพลังงาน, อาหาร ท่องเที่ยว และพลาสติก โดยกลุ่มพลังงานมีความก้าวหน้ามากที่สุด ในแง่ของการลงทุนนั้น หากธุรกิจเป็น Big Point ไปแล้วก็จะแพง ดังนั้น เราจึงต้องมองถึงอนาคตว่าใครจะเป็น Big Point ต่อไปเพื่อให้ได้รีเทิร์นที่ดี”

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เคแบงก์ ไพรเวท แบงกิ้ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำแนะนำการลงทุน เล็งเห็นว่านักลงทุนคือหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่มีมูลค่ามหาศาลเท่านั้น แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแห่งอนาคตไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วย”

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแห่งความยั่งยืนที่กำลังจะเกิดขึ้น ธนาคารกสิกรไทย เคแบงก์ ไพรเวท แบงกิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ จัดเสวนาแห่งปี “RETHINK SUSTAINABILITY : A CALL TO ACTION FOR THAILAND” ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าระดับโลกและประเทศไทยที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการลงทุน เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน

ซึ่งไม่เพียงตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืนในเชิงความคิดเท่านั้น แต่เป็นงานเสวนาที่ต้องการจุดประกายให้เกิดการลงมือทำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืนในอนาคต

“สถาบันการเงินถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ถ้าใช้ทรัพยากรทางการเงินไปในทางที่ถูก การคิดใหม่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จ ซึ่งนอกจากจะสร้างความตระหนักรู้แล้ว ก็จะต้องมีการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อไปสู่ Net Zero เพราะบางคนตระหนักรู้แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร การสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะ RE THINK SUSTAINABLE แล้ว ยังเสนอแนะแนวทางเพื่อให้เกิด ACTION PLAN ด้วย”