ttb ทรานส์ฟอร์มองค์กรตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้า อัดงบฯไอที 7% ของรายได้

ปิติ ตัณฑเกษม ttb ทีเอ็มบีธนชาต

ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เปิดกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มยกระดับ 4 กลุ่มลูกค้า เผยใช้งบฯลงทุนพัฒนา 7% ของรายได้ ยอมรับหนี้ครัวเรือน-ดอกเบี้ยสูง ทำภาระหนี้เพิ่ม คาดหนี้เอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในกรอบ 2.9%

วันที่ 4 มีนาคม 2567 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบยอมรับมีทิศทางปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หมดลง ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง จึงเป็นปีที่ยากลำบากของลูกหนี้

และจากทิศทางดังกล่าว สอดคล้องกับหนี้เสียของธนาคารที่คาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ยังอยู่ในกรอบบริหารจัดการได้ที่ระดับ 2.9% และคาดว่าอัตราการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (NPL Coverge Ratio) อยู่ที่ 150% ซึ่งเพียงพอรองรับสถานการณ์ระยะข้างหน้า และถือว่าสูงเมื่อเทียบกับระบบที่เกิน 120% ประกอบกับโจทย์ใหญ่ของธนาคารปีนี้ คือการช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดภาระหนี้ของลูกค้าผ่านการรวบหนี้ (Debt Consolidation) ด้วย

อย่างไรก็ดี แนวคิดการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ หรือ JV AMC ธนาคารยังไม่ได้ปิดโอกาส แต่คิดว่าตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการจัดตั้ง เนื่องจากปริมาณหนี้และวิธีการบริหารจัดการหนี้ของธนาคารยังเพียงพออยู่

โดยส่วนหนึ่งธนาคารมีการตัดขายซึ่งจะเป็นในส่วนที่ธนาคารไม่ค่อยชำนาญ หรือลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งในปี 2566 ธนาคารได้มีการตัดขายหนี้ไปกว่า 6-7 พันล้านบาท สำหรับในปีนี้อาจจะไม่ได้มีการตัดขาย เนื่องจากทั้งระบบจะมีการตัดขายออกมาค่อนข้างเยอะ และทำให้ราคาต่ำเกินไป

“การบริหารหนี้เสียของธนาคาร ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่น่าห่วง คือกลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน และกลุ่มที่กู้บ้านเกิน 3 ล้านบาท ที่เห็นผลกระทบจากการชำระหนี้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีภาระมากขึ้น”

สำหรับการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) นั้น ธนาคารมองว่าสิ่งที่ธนาคารกำลังทำอยู่เป็นการขับเคลื่อนสู่ Virtual Bank แต่การจะเป็น Virtual Bank อาจจะไม่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกรณี แต่เป็นการตอบโจทย์บางกลุ่ม ซึ่งการที่ธนาคารนำธุรกรรมขึ้นไปอยู่บน Moblie Banking ลูกค้าสามารถทำได้ 7 วัน 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ธนาคารก็อยู่บนโลกดั้งเดิม (Physical) เพราะลูกค้าบางรายยังต้องการติดต่อหรือเจอมนุษย์อยู่ ดังนั้นธนาคารยังต้องอยู่บน 2 โลก

นายปิติกล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการดำเนินงานในปี 2567 ธนาคารได้เดินหน้าที่จะ LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า โดยเร่งทรานส์ฟอร์ม (Transform) องค์กรแบบรอบด้าน นำดิจิทัลมาดูแลลูกค้าทุกกลุ่มในทุกช่วงชีวิต โดยเฉพาะ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ

ภายใต้แนวคิด Ecosystem Play ได้แก่ กลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน พนักงานเงินเดือน และลูกค้า Wealth โดยมีแอป ttb touch เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อโซลูชั่นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากพันธมิตรชั้นนำของธนาคาร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินในระดับเฉพาะบุคคล หรือ Segment-of-One เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นแบบรอบด้าน

ทั้งนี้ สิ่งที่ธนาคารต้องทำคือการมุ่งทรานส์ฟอร์ม 4 ด้านสำคัญ ก็คือ เริ่มจากกระดุมเม็ดแรกเลย Digital Transformation เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่ดีให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม เป็นการวางกลยุทธ์สร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลขององค์กรเพื่อสร้าง New Business Model ใหม่ๆ

ขณะเดียวกันก็ต้อง Revenue Model Transformation หรือการปรับการหารายได้ให้เหมาะกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป รวมถึง Channel & Process การดูแลช่องทางการให้บริการ โดยผลักดันให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งจากปัจจุบัน 94% ของธุรกรรมที่สาขา ลูกค้าสามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชั่น

“ในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าการนำคนไปสู่ Digital Ecosystem นั้นได้ แต่ทำคนเดียวไม่ได้ ขณะที่ความท้าทายในปีนี้ที่ต้องเผชิญยังมีอยู่ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม-หนี้ครัวเรือน และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพราะลูกค้าแต่ละคนมีโจทย์ไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการทรานส์ฟอร์มในส่วนหลัก ๆ เพื่อเดินหน้า LEAD the CHANGE โดยสร้างทีมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ธนาคารใช้งบฯไอทีประมาณ 7% ของรายได้”