เงินบาททรงตัว นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 2 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (1/8) ที่ระดับ 33.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิถุนายน หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพฤษภาคม และทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมิถุนายน หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ทางบริษัทไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.3 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าระดับ 52.0 ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ในส่วนของความเคลื่อนไหวของกฎหมายปฏิรูปภาษี ทางเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดหวังที่จะผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยนายมาร์ค ชอร์ท ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการกฎหมายของทำเนียบขาวเปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการซึ่งทำหน้าที่ร่างกฎระเบียบด้านภาษีของสภาคองเกรสนั้น อาจจะเพิ่มรายละเอี่ยดและร่างแผนการปฏิรูปภาษี หลังวันแรงงานของสหรัฐซึ่งตรงกับวันที่ 4 กันยายน โดยนายมาร์ค ชอร์ท กล่าวว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจจะมีการปรับเพิ่มรายละเอียดเพื่อให้สามารถผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในเดือนตุลาคม และจากนั้นจะยื่นให้วุฒิสภาอนุมัติในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกำลังจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์นี้ (4/8) ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนกรกฎาคมจะเพิ่มขึ้นราว 180,000 ตำแหน่ง และอัตราว่างงานในเดือนกรกฎาคมจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2% ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.27-33.34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (2/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1812/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกันจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (1/8) ที่ระดับ 1.1816/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยผลการสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 56.6 ในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ 56.8 และ 57.4 ในเดือนมิถุนายน โดยทางมาร์กิตระบุว่า แม้ดัชนี PMI ยูโรโซนได้ปรับตัวลดลงแต่ก็ยังอยู่ในแดนบวก โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของสมาชิกยูโรโซนทุกประเทศอยู่ในช่วงขยายตัว นำโดยออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งยุโรปหรือยูโรสแตท เปิดเผยว่า ตัวเลขประมาณการเบื้องต้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนในไตรมาส 2 ของปี 2560 รายไตรมาสปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% และปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1794-1.1868 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1850/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (2/8) เปิดตลาดที่ระดับ 111.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับจากราคาปิดตลาดในวันอังคาร (1/8) ที่ระดับ 110.29/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นหันมาส่งเสริมการจ้างแรงงานต่างชาติ พร้อมเปิดโอกาสให้เพศหญิงและผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายในการส่งเสริมให้ประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงมีแรงกระตุ้น อย่างไรก็ตาม หากนโยบายกระตุ้นการคลังในปัจจุบันหมดอายุลงตามกำหนด ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอ่อนแรงลงในปีหน้า ทั้งนี้เมื่อนโยบายกระตุ้นการคลังหมดอายุลงในปี 2561 ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศขยายตัวอย่างซบเซาแล้ว เศรษฐกิจก็จะชอลอตัวลง แม้จะมีการคาดการณ์ว่าการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกนั้นจะส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.38-110.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐเดือนกรกฎาคม (2/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออียู ภาคบริการ ประจำเดือนกรกฎาคม (3/8) ยอดค้าปลีกอียู ประจำเดือนกรกฎาคม (3/8) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (4/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.50/+0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.50/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ