Karoshi ซินโดรม “ทำงานหนักจนตาย” WHO เผย คร่าชีวิต 7 แสนคนต่อปี

work
Photo: Resume Genius/unsplash

Karoshi ซินโดรม “ทำงานหนักจนตาย” นิยามจากญี่ปุ่นแพร่ไปทั่วโลก WHO เผย ไม่มีงานใดที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงนี้ คร่าชีวิต 7 แสนคนต่อปี ส่วนไทยติดอันดับ 3 ชั่วโมงทำงานยาวนานที่สุดในโลก

เกือบทุกปีในญี่ปุ่นมีรายงานการเสียชีวิตหลายร้อยรายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากเกินไป ตั้งแต่โรคหลอดเลือดสมอง อาการหัวใจวาย และการฆ่าตัวตาย พร้อมด้วยปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ

“คาโรชิ” เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลได้ว่า “การเสียชีวิตจากการทำงานหนักมากเกินไป” คำนิยามดังกล่าว เป็นหัวข้อการศึกษาและความกังวลในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2523 ซึ่งการทำงานหนักเกินไปเป็นคำที่กว้างมาก อาจรวมถึงการมีภาระหนักเกินไป และความพยายามรับมือเรื่องการให้บรรลุทุกสิ่งในเวลาที่จำกัด

เนื่องในวันแรงงาน ซึ่งเป็นทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี “ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวบรวมรายงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำงานหนักของหลายประเทศ ดังนี้

การศึกษาของ WHO (World Health Organization) ระบุว่า การทำงานหนักเกินไปคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 745,000 คนต่อปี โดยคนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปในแต่ละสัปดาห์มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นประมาณ 35% และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานตามมาตรฐาน 35 ถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

Advertisment

Karoshi ซินโดรม ยังแพร่หลายในส่วนอื่น ๆ ในโลก ตัวอย่างเช่น หลายปีที่ผ่านมา อินเดียสูญเสียผู้บริหารระดับสูงบางคนในองค์กรที่มีชื่อเสียง เนื่องจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากความเครียด

หรือแม้แต่ที่สวีเดน สำนักงานสิ่งแวดล้อมการทำงานของสวีเดน รายงานว่า ชาวสวีเดนหลายพันคนเสียชีวิตในที่ทำงานจากโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากความเครียด การทำงานเป็นกะ ความเครียดจากงาน และมีการคาดว่าจะคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มมากขึ้น

“ไม่มีงานใดที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ” ดร. ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ และคนทำงานหาทางปกป้องสุขภาพ

ญี่ปุ่นพยายามปรับ work-life balance

ญี่ปุ่นพยายามปรับปรุงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของพลเมือง รัฐบาลได้จัดทำเอกสารไวท์เปเปอร์ ‘คาโรชิ’ ซึ่งได้รับคำสั่งจากกฎหมายปี 2014 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความพยายามในการป้องกันการเสียชีวิตจากการทำงาน

Advertisment

เนื่องจากเห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดชั่วโมงทำงานที่มีประสิทธิภาพ และพยายามที่จะเสนอเพดานทางกฎหมายเกี่ยวกับชั่วโมงทำงานล่วงเวลาต่อเดือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การปฏิรูปรูปแบบการทำงาน”

ไวท์เปเปอร์ยังเจาะลึกเรื่องปริมาณการนอนหลับของคนทำงาน ทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระและพนักงานองค์กร การวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมื่อช่องว่างระหว่างปริมาณการนอนหลับที่คนต้องการ กับปริมาณที่พวกเขาได้รับมากกว่าสองชั่วโมงต่อวัน จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพหลายประการ เช่น การง่วงนอนตอนกลางวัน สมาธิไม่ดี และความผิดปกติของการย่อยอาหารและลำไส้ รวมถึงความผิดปกติทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล

รายงานดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีการปรับปรุงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการทำงานหนักเกินไป แต่สุขภาพของคนงานในญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงเป็นข้อกังวลระดับชาติ โดยกว่า 90% ของผู้ประกอบอาชีพอิสระและพนักงานในองค์กรรู้สึกว่าพวกเขาต้องการการนอนหลับอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน แต่มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงประมาณครึ่งหนึ่ง (เกือบ 10,000 คนเท่านั้น) ที่บอกว่าพวกเขามีโอกาสได้หลับเพียงพอขนาดนั้น

เอกสารไวท์เปเปอร์เระบุด้วยว่า แม้บริษัทบางแห่งจะพยายามสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น แต่คนงานชาวญี่ปุ่นก็ยังคงใช้เวลาหลายชั่วโมงในสำนักงาน นานกว่าคนงานในประเทศอื่น ๆ

วัยรุ่นเกาหลีต่อต้านทำงานหลายชั่วโมง

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีชั่วโมงทำงานยาวนานที่สุดในโลก ในอดีตสิ่งนี้มักถูกมองว่าเป็นมรดกของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าทึ่ง ผู้คนจะอยู่กับบริษัทเดียวจนกระทั่งเกษียณอายุ เนื่องจากทำให้มีความมั่นคงในการทำงาน และรับประกันรายได้

เมื่อกลางปี 2566 รัฐบาลเกาหลีใต้ ที่มีความอนุรักษนิยม เสนอให้เพิ่มสัปดาห์การทำงานจาก 52 ชั่วโมงเป็น 69 ชั่วโมง (เมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ทำงานเฉลี่ย 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น) ชาวเกาหลีใต้ใช้เวลาทำงานนานกว่าประเทศอื่น ๆ มากอยู่แล้ว โดยทำงานโดยเฉลี่ย 1,915 ชั่วโมงต่อปี เทียบกับ 1,791 ชั่วโมงสำหรับชาวอเมริกัน และ 1,614 ชั่วโมงในออสเตรเลีย

นโยบายดังกล่าวเกิดจากการที่เกาหลีใต้พยายามต่อสู้กับปัญหาประชากรสูงวัยและจำนวนแรงงานที่ลดลง โดยหลายบริษัทบ่นว่า การทำงานจาก 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้การส่งมอบงานตามกำหนดเวลาเป็นเรื่องยาก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ก่อให้เกิดการประท้วงจากสหภาพแรงงานและลูกจ้างในเกาหลีใต้กลุ่ม Millennials และ Gen Z โต้แย้งว่า นโยบายดังกล่าวจะทำลายสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และทำให้สุขภาพของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง ส่งผลทำให้ประธานาธิบดี ยุน ซ็อก-ย็อล สั่งให้หน่วยงานของรัฐพิจารณามาตรการดังกล่าวอีกครั้ง

กรุงเทพฯ ติดอันดับ 3 ชั่วโมงทำงานนานที่สุดในโลก

Kisi ทำรายงานการศึกษา Cities with the Best Work-Life Balance 2021 เผยให้เห็นการจัดอันดับเมืองต่าง ๆ ตามความสำเร็จในการส่งเสริมสมดุลระหว่างชีวิต โดยการเปรียบเทียบข้อมูลเกี่ยวกับความเข้มข้นของการทำงาน การสนับสนุนจากสถาบัน กฎหมาย และความน่าอยู่

รายงานดังกล่าวยังมีหัวข้อ “Cities with the Overworked 2021” เผยให้เห็นเมืองที่มีประชากรที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน และชีวิตไลฟ์สไตล์ขาดความสมดุลมากที่สุด

โดยผลสำรวจระบุว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยติดอันดับ 3 เมืองที่มีประชากรที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานมากที่สุด

ทั้งนี้ 5 อันดับเมืองที่มีชั่วโมงทำงานยาวนานที่สุดในโลก ประกอบด้วย

อันดับ 1 ฮ่องกง

อันดับ 2 ประเทศสิงคโปร์

อันดับ 3 กรุงเทพฯ ประเทศไทย

อันดับ 4 บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

อันดับ 5 โซล ประเทศเกาหลีใต้