ทำงานวันสงกรานต์ พนักงานเงินเดือนได้ค่าทำงาน 1 เท่า ค่าโอที 3 เท่า

ทำงาน
Photo by: Christin Hume on unsplash

รู้มั้ย ? ทำงานวันหยุดตามประเพณี พนักงานเงินเดือนได้ค่าทำงาน 1 เท่า และหากทำล่วงเวลาในวันหยุดได้ค่าโอที 3 เท่า มาทำความเข้าใจอัตราค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาไปด้วยกัน

วันที่ 11 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มวด 5 ว่าด้วยเรื่อง ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยมาตรา 62 ระบุว่า ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 (วันหยุดประจำสัปดาห์) มาตรา 29 (วันหยุดตามประเพณี) หรือมาตรา 30 (วันหยุดพักผ่อนประจำปี) ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้

(1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

แล้วทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ต้องได้รับค่าจ้างอย่างไร มาทำความเข้าใจเรื่องอัตราค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลา (Overtime หรือ OT) ไปด้วยกัน

1. ค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์

  • ลูกจ้างรายเดือน ได้อัตราค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 เท่า
  • ลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างที่รับค่าจ้างตามผลงาน ได้อัตราค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 เท่า

หมายเหตุ :

– วันหยุดประจำสัปดาห์ เช่น บางบริษัทกำหนดให้พนักงานทำงาน 5 วัน มีวันหยุดประจำสัปดาห์ 2 วัน เสาร์และอาทิตย์ เป็นต้น

– กรณีลูกจ้างรายเดือน แม้ไม่มาทำงานก็มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แต่หากนายจ้างสั่งให้มาทำงาน นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 เท่าจากค่าจ้าง รวมเป็น 2 เท่า

2. ค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี

  • ลูกจ้างรายเดือน ได้อัตราค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 เท่า
  • ลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างที่รับค่าจ้างตามผลงาน ได้อัตราค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 เท่า

หมายเหตุ :

– วันหยุดตามประเพณีพิจารณาจากวันหยุดราชการ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ศาสนา เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันแรงงานแห่งชาติ วันวิสาขบูชา วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

– กรณีลูกจ้างรายวัน/ลูกจ้างคำนวณตามผลงาน/ลูกจ้างรายเดือน แม้ไม่มาทำงานก็มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แต่หากนายจ้างสั่งให้มาทำงาน นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 เท่าจากค่าจ้าง รวมเป็น 2 เท่า

3. ค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ

  • ลูกจ้างรายเดือน ได้อัตราค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า
  • ลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างที่รับค่าจ้างตามผลงาน ได้อัตราค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 .5 เท่า

หมายเหตุ :

– เวลาทำงานปกติ เช่น บางบริษัทกำหนดให้พนักงานทำงาน 09.00-18.00 น.

– หากให้ทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติเกิน 2 ชั่วโมง ต้องพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลา ไม่น้อยกว่า 20 นาที

4. ค่าล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี

  • ลูกจ้างรายเดือน ได้อัตราค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 3 เท่า
  • ลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างที่รับค่าจ้างตามผลงาน ได้อัตราค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 3 เท่า

วิธีคิดค่าทำงาน-ค่าล่วงเวลา

สำหรับลูกจ้าง เช่น พนักงานรายเดือน ทำงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องได้ “ค่าทำงาน” ในวันหยุด

สูตรการคำนวณค่าทำงาน คือ (เงินเดือน ÷ 30 วัน ÷ ชั่วโมงงานปกติ) x (1 เท่า) x (จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน)

เงินเดือน 25,000 ÷ 30 วัน ÷ 8 ชั่วโมง = 104 บาท

นำ 104 บาท x 1 เท่า x จำนวนที่ทำงานในวันหยุด คือ 4 ชั่วโมง

เท่ากับค่าตอบแทนการทำงานที่จะได้รับ คือ 417 บาท

สำหรับลูกจ้างที่ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด เช่น พนักงานรายเดือน ทำงานช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิน 8 ชั่วโมง ต้องได้ “ค่าล่วงเวลา” ในวันหยุด

สูตรการคำนวณค่าทำงาน คือ (เงินเดือน ÷ 30 วัน ÷ ชั่วโมงงานปกติ) x (3 เท่า) x (จำนวนชั่วโมงที่ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด)

เงินเดือน 25,000 ÷ 30 วัน ÷ 8 ชั่วโมง = 104 บาท

นำ 104 บาท x 3 เท่า x จำนวนที่ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด คือ 3 ชั่วโมง

เท่ากับค่าตอบแทนการทำงานที่จะได้รับ คือ 938 บาท