สงครามลุกลาม หนุนทองในประเทศ อาจแตะ 43,000 บาท

gold rising
คอลัมน์ : ธนรัชต์ พสวงศ์ 
ผู้เขียน : ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ราคาทองในประเทศเดือน เม.ย.ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ทะลุ 40,000 บาท ซึ่งราคาทองแท่งขายออกของสมาคมค้าทองคำแตะ 40,650 บาท ในวันที่ 9 เมษายน สำหรับ 4 ปัจจัยหนุนทองในประเทศ ซึ่งมาจากราคาทอง Spot ตลาดโลกที่ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ 2,535 ดอลลาร์

1) แนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐเดือน ก.พ.ออกมาตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มลดลง สำหรับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ตลาดยังคงคาดว่าเฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ดี เริ่มไม่มั่นใจหลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มี.ค.แข็งแกร่ง แต่คาดเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยปีนี้ 3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐนี้ ปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐจึงอาจใช้นโยบายที่เอื้อให้กับรัฐบาล ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยลง

นอกจากนี้ ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งก็อาจกดดันให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เร่งขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำอื่น ๆ เป็นขาลงเช่นกัน ยกเว้นธนาคารกลางญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหนุนราคาทองเช่นกัน

2) ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งล่าสุดอิสราเอลโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย ซึ่งในช่วงปลายสัปดาห์อิหร่านประกาศตอบโต้อิสราเอลสัปดาห์นี้ ทำให้เกิดความกังวลว่า หากอิหร่านทำสงครามโดยตรงกับอิสราเอลจะทำให้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงมากขึ้น

3) ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางที่คาดยังแข็งแกร่งในปีนี้ จากกระแส De-Dollarization หรือการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และหันมาถือทองคำในเงินทุนสำรองมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแรงซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกอย่างแข็งแกร่ง

โดยซื้อทองคำเกิน 1,000 ตันติดต่อกันมา 2 ปี สูงที่สุดในรอบ 55 ปี และทำให้สัดส่วนความต้องการทองคำจากธนาคารกลางจากเดิมเพียง 8% ในปี 2564 เป็น 23% ในปี 2565-2566 ดังนั้น ถือว่าธนาคารกลางมีบทบาทต่อความต้องการทองคำและราคาทองคำอย่างมาก

ปีนี้คาดว่าความต้องการทองคำจากธนาคารกลางยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยเฉพาะจากธนาคารกลางจีนที่มีเงินทุนสำรองมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ถึงแม้ว่าธนาคารกลางจีนได้มีการซื้อทองคำสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนการถือทองคำในเงินทุนสำรองเพียง 4% เท่านั้น

ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำแล้ว 64 ตัน ถึงแม้ว่าลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เป็น 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งธนาคารกลางจีนยังเป็นธนาคารกลางที่เข้าซื้อทองมากที่สุดอันดับ 1 โดยเข้าซื้อทองในเดือนกุมภาพันธ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 และเข้าซื้อทองรวม 22 ตันในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้

4) เงินบาทที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบกว่า 5 เดือนใกล้ 37 บาท แตะ 36.82 บาท เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เงินบาท 2.40 บาท ทำให้ช่วยหนุนราคาทองในประเทศ 2,400 บาท สำหรับเงินบาทคาดว่ายังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและไทยอาจจะสูงถึง 3.25% ถ้าธปท.ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยก่อนสหรัฐ เนื่องจากทำให้มีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรมากขึ้น รวมทั้งต่างชาติก็ยังมียอดขายสุทธิอย่างหนักในตลาดหุ้นไทย

จากประเด็นสงครามในตะวันออกกลางที่คาดลุกลามรุนแรงขึ้น ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาทองตลาดโลกอาจพุ่งแตะ 2,500 ดอลลาร์ เมื่อประเมินจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่เกิดขึ้น ราคาทองพุ่งแรงราว 200-250 ดอลลาร์ ดังนั้นราคาทองในประเทศอาจแตะ 43,000 บาทได้