จับตาดอกเบี้ยไทย กนง. “คง” หรือ “ลด” จาก 2.50% รู้ผลบ่ายนี้

ดอกเบี้ย

จับตาผลประชุม กนง. วันนี้ 14.00 น. นัดชี้ชะตาดอกเบี้ยไทย “คง” หรือ “ลด” จากระดับ 2.50% ต่อปี หลังประชุมครั้งล่าสุดคณะกรรมการเสียงแตก 5 ต่อ 2

วันที่ 10 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เวลา 14.00 น. จะเป็นวันที่จะทราบผลการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) ว่าจะเป็นไปตามนักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยต่าง ๆ เก็งผลการประชุมว่า กนง.จะ “คง” หรือ “ลด” อัตราดอกเบี้ยจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี

ซึ่งการประชุมนัดนี้ถือเป็นผลการประชุมครั้งสำคัญและเป็นนัดชี้ชะตาทิศทางดอกเบี้ยไทยที่หลายฝ่ายติดตามใกล้ชิด หลังจากที่ผ่านมามีกระแสการกดดันจากทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธปท.มีกำหนดแถลงข่าวผลการประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2/2567 เวลา 14.30-15.30 น. โดย นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 2 ชั้น 1 ธปท. สำนักงานใหญ่

อย่างไรก็ดี หากย้อนดูสถิติในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ามีการปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 จากระดับ 0.50% ต่อปี โดยปรับ 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี

โดยหลังจาก กนง.ได้ทยอยปรับขึ้นมาต่อเนื่อง โดยปรับครั้งละ 0.25% ต่อปี จนถึงระดับ 2.50% ต่อปีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นการปรับขึ้นมาแล้ว 2.00% ต่อปี หรือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้งต่อเนื่อง และการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2566 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 กนง.ได้มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกที่ระดับ 2.50% ต่อปี

และการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เสียงแตก มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งภาคการต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

ขณะที่คณะกรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้ลดดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง