นักวิเคราะห์เปิดมุมมองผลประชุม กนง. เอฟเฟ็กต์การลงทุน

กนง. ดอกเบี้ย

บล.พาย เปิดมุมมองกลุ่มธุรกิจการเงิน ต่อการประชุม กนง. วันนี้ กาง 3 สถานการณ์ต่อผลการประชุม พร้อมเผยมุมมองการลงทุน

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ พาย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 เม.ย. 2567 มีความเห็นที่แตกต่างกันจากกลุ่มนักลงทุนและนักวิชาการ ซึ่งเรามองว่าขึ้นกับว่ากลุ่มไหนจะให้น้ำหนักปัจจัยอะไรมากกว่ากันระหว่างเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเงินทุนไหลออก เราแบ่งมุมมองเป็น 3 กรณี

กลุ่มแรก กนง. ควรปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาจากมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยโตช้า + อัตราเงินเฟ้อไทยต่ำ (เงินเฟ้อติดลบมา 5 เดือนติดต่อกันจนเข้าข่ายเงินฝืด) + หนี้ครัวเรือนสูงและบริษัทต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูง (ความเห็นส่วนตัวของผมสนับสนุนกลุ่มนี้)

กลุ่มสอง กนง. ควรคงดอกเบี้ยที่ 2.50% เพราะกังวลเรื่องเงินทุนไหลออก + รอท่าทีเฟด ของสหรัฐ (เฟดยังไม่มีท่าทีจะปรับลดดอกเบี้ยเร็ว อาจจะไปลดในครึ่งหลังของปี 2567) และบางส่วนมองว่าถึงจะลดดอกเบี้ยลงจริง ๆ ก็อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นอะไรได้มากมาย

กลุ่มสาม มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรจะลดอัตราเงินนำส่งที่สถาบันการเงินต้องจ่ายให้กองทุนฟื้นฟูฯ ลง (ลดลง 0.23% เท่ากับที่เคยปรับลดลงในปี 2563-2565) เพราะจะทำให้ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้ทันที ลูกหนี้ได้ประโยชน์ทันที

ทั้งนี้ยังมีตัวแปรความไม่แน่นอนอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มในอนาคต เช่น 1. มาตรการช่วยเหลือของรัฐ (น้ำ ไฟ น้ำมัน อาหาร) จะยังช่วยต่อหรือพอแค่นี้ และนโยบายเงินดิจิทัล (ทำได้ไหม ทำเมื่อไหร่ ทำเท่าไหร่) 2. ราคาพลังงานโลก จากความขัดแย้งใน ตปท. + อำนาจของกลุ่มโอเปกในการควบคุมอุปทานและราคาพลังงาน 3. ภาวะเอลนีโญกระทบต่ออุปทานภาคการเกษตร, ราคา commodity, ราคาอาหารมากแค่ไหน 4. การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ เรามองว่าภาระการตัดสินใจของฝ่ายบริหารเศรษฐกิจคงจะไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะแม้อาจจะปรับลดดอกเบี้ย (หรืออาจไม่ลด) เศรษฐกิจไทยคงจะไม่ฟื้นตัวได้ทันที เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างไทยต้องพึ่งพิงต่างประเทศ (นักท่องเที่ยวและคู่ค้าธุรกิจ)

และกว่านโยบายจะเห็นผลต้องใช้เวลาสักระยะ แต่เป็นการส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน ควบคู่กับมาตรการการคลังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นผลดีทั้งกับเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นของไทย เพียงแต่ขึ้นกับว่ากลุ่มธุรกิจไหนได้ประโยชน์มาก หรือน้อยต่างกันไป

แน่นอนว่าอำนาจการตัดสินใจขึ้นกับทาง กนง. และมองว่าผลกระทบระยะสั้นจะเป็นในเชิง Sentiment มากกว่าในเชิงพื้นฐาน เรามีมุมมองต่อการลงทุน

1.ปรับลดดอกเบี้ย : หุ้นกลุ่มผู้บริโภคและอุตสาหกรรม รวมทั้งกลุ่มน็อนแบงก์ได้ประโยชน์ แต่กลุ่มแบงก์อาจเสียประโยชน์บ้าง เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยจะลดลง แต่ผลกระทบจะจำกัด เพราะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจน้อยกว่าของทาง กนง. เนื่องจากตอนปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น ก็ขึ้นน้อยกว่าของ กนง. (ข้อมูลของ ธปท. การส่งผ่านดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ไทยเฉลี่ยที่ 61% เท่านั้น)

2.คงดอกเบี้ย : ไม่มีใครได้และใครเสีย กลุ่มแบงก์ไม่เสียประโยชน์ หุ้นแบงก์อาจจะขึ้นต่อจากวานนี้ (วันนี้มีบทวิเคราะห์งบฯไตรมาส 1/2567 ออก เราคาดว่ากำไรจะแข็งแกร่ง, หลังวันหยุดสงกรานต์ แบงก์จะขึ้น XD และงบฯจะประกาศ 17-19 เม.ย.)

หุ้นกลุ่มน็อนแบงก์ หรือกลุ่มอื่นอาจจะพักตัว แต่เพราะเราเชื่อว่ายังไงอัตราดอกเบี้ยก็เป็นขาลง และหากการเบิกจ่ายงบประมาณเข้ามา + มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม เศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวได้จริง หุ้นน็อนแบงก์มีโอกาสฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2567 (แต่ต้องดูเรื่องคุณภาพสินเชื่อ และราคารถมือสองว่าฟื้นตัวหรือไม่)

3. ปรับลดเงินนำส่งให้กองทุนฟื้นฟูฯแต่ไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย : ลูกหนี้ได้ประโยชน์ และแบงก์ก็ไม่เสียประโยชน์ มองว่าเป็น Win Win แต่จะกระทบต่อการลดลงของหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน กรณีนี้ เรามองว่าเป็นอีกทางเลือกที่ดี แต่ก็ควรจะกำหนดเวลาการปรับลดเงินนำส่ง