พับแผนออกบอนด์ต่างประเทศ ต่างชาติสนลงทุนพันล้านเหรียญสหรัฐ

Bond

สบน. คาดออกบอนด์ต่างประเทศไม่ทันปีนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษา ชี้ต่างชาติสนใจลงทุน 500-1000 ล้านเหรียญสหรัฐ เผยข้อดีช่วยสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงภาคเอกชน หนุนเครดิตเรตติ้ง

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า การออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond) ตามนโยบายรัฐบาลจากที่ สบน.ได้มีการศึกษาพบว่าแนวทางการออกบอนด์ดังกล่าวจะเป็นโอกาสและผลดีเป็นอย่างมาก และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของเครดิตเรตติ้ง ให้กลับภาคเอกชนของไทย ที่จะสามารถใช้อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยได้

“ขณะนี้ตลาดเงินในประเทศจะมีจำนวนมาก ซึ่งมองว่าไม่จำเป็นที่ต้องไปออกบอนด์ต่างประเทศ และจะมีความเสี่ยงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน แต่การที่รัฐบาลไม่ได้ออกบอนด์ต่างประเทศมาเป็นเวลานาน ก็จะทำให้ประเทศไม่มีเรตติ้งอ้างอิง เพราะเราก็ระดมเงินแต่ภายในประเทศเท่านั้น” นายพชรกล่าว

นายพชรกล่าวว่า แม้แต่ประเทศที่แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ก็ยังสนใจหรือได้ออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศเช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ได้ออกบอนด์เงินสกุลต่างประเทศราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อออกแล้ว ก็ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศทันที

สำหรับวงเงินที่ศึกษาในการออกบอนด์นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 500-1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปีนี้คาดว่าจะยังไม่มีการออกพันธบัตรดังกล่าว ทั้งนี้จากการสอบถามธนาคารโลก (world bank) และ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เห็นว่าขนาดของบอนด์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนักลงทุนต่างชาติได้ให้ความสนใจที่จะเข้าลงทุนบอนด์ของไทยจำนวนมาก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในภูมิภาคนี้กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนด้วยอานิสงส์จากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

Advertisment

อย่างไรก็ดี การออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศนี้ ก็มีข้อจำกัดและความเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า และการนำเงินเข้ามาทั้งก้อน ซึ่งต้องมีโครงการรองรับ โดยข้อจำกัดนี้ เราจำเป็นต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ