ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าท้ายสัปดาห์ หลังข้อมูลหลายทางหนุนเฟดคงดอกเบี้ย

ดอลลาร์

ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าท้ายสัปดาห์ หลังข้อมูลหลายทางหนุนเฟดคงดอกเบี้ย

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (20/5) ที่ระดับ 36.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 36.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในตลาด หลังเจ้าหน้าที่หลายคนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดควรรอหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย

อาทิ นายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% แม้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. จะออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ก็ตาม และปฏิเสธที่จะคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยกล่าวเพียงว่าเขากำลังประเมินข้อมูลเศรษฐกิจและความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง เช่นเดียวกับ นายไมเคิล บาร์ กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยในไตรมาส 1 ปีนี้ ไม่ได้ทำให้เขามีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเฟดควรจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ทางด้านนางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ให้ความเห็นว่า แม้ข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาชะลอลงในเดือน เม.ย. จะนับเป็นข่าวดี แต่ก็เร็วไปที่จะระบุว่าเงินเฟ้ออยู่ในแนวทางใด รวมทั้งเศรษฐกิจในตอนนี้ยังคงที่แข็งแกร่งเกินคาด ดังนั้นเฟดควรจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงป็นเวลานานขึ้น

Advertisment

ด้านนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา กล่าวว่า จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่เฟดจะมีความมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย และเขากล่าวเตือนว่า เมื่อวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เริ่มต้นขึ้น ระดับสุดท้ายของวัฏจักรจะทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่ประชาชนคุ้นเคยกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ค่าเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในวันพุธ (22/5) ภายหลังจากที่เฟดได้ออกมาเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 30 เมษายน-1 พฤษภาคม โดยมีใจความบ่งชี้ว่า กรรมการเฟดยังคงมีความกังวลเกียวกับอัตราเงินเฟ้อและยังคงไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมากถึงระดับที่ทำให้เฟดมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

ทั้งนี้ บรรดากรรมการเฟดยังคงมองว่าแม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะชะลอตัวลงในปีที่แล้ว แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมายังคงไม่มีสัญญาณบ่งชี้ที่แน่ชัดว่าอัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงสู่เป้าหมาย อีกทั้งข้อมูลเงินเฟ้อครั้งล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากกลุ่มราคาอาหารและการบริการยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้คณะกรรมการเฟดมีการหารือกันถึงโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

หากอัตราเงินเฟ้อยังคงไม่ชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงออกมาแสดงความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ อาจจะไม่สามารถปรับตัวลงมากพอที่จะทำให้เฟดมีความมั่นใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้

Advertisment

นอกจากนั้นแล้วในท้ายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นซึ่งปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 50.0 ในเดือน เม.ย. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน จากระดับ 51.3 ในเดือน เม.ย. โดยการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าว ทำให้นักลงทุนเริ่มปรับการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ โดยอาจจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน ก.ย.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (20/5) ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ที่ 35.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีแรงขายดอลลาร์จากกลุ่มผู้ค้าทองคำในประเทศ หลังราคาทองคำทะยานขึ้นเหนือระดับ 2,450 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังมีรายงานว่าเฮลิคอปเตอร์ที่มี ประธานาธิบดี ไรซี และนายอับดุลลาห์ยานโดยสารมาด้วยนั้น ประสบอุบัติเหตุตกขณะกำลังบินข้ามภูเขาท่ามกลางหมอกลงจัด

ซึ่งข่าวการเสียชีวิตของประธานาธิบดีไรซี ส่งผลให้สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางมีความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 เติบโต 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเติบโตเพียง 0.7-0.8% โดยตัวเลข GDP ได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี

รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 2567 ลงเหลือเติบโต 2-3% หรือช่วงกลางของคาดการณ์ที่ 2.5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 2.2-3.2% เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าคาด การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาด และการลงทุนภาครัฐยังหดตัว

ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ให้ความเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 ขยายตัว 1.5% ต่อเนื่องจาก 1.7% ในไตรมาส 4/2566 ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ตัวเลข GDP ไม่ได้ติดลบ และไม่ได้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ถือว่าเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ เพราะศักยภาพของไทยน่าจะเติบโตได้มากกว่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยมาจากโครงสร้างซึ่งต้องใช้เวลา แต่บางอย่างสามารถทำได้เลย แต่วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะเป็นอย่างไรขอไปพิจารณาก่อนและจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทได้เริ่มปรับตัวอ่อนค่าอีกครั้งในวันถัดมาจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งปัจจัยกดดันจากการเมืองภายในประเทศ โดยในวันพฤหัสบดี (23/5) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับพิจารณาคำร้องของกลุ่ม 40 สว. ไว้พิจารณาความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย กรณีเสนอแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ผู้เคยถูกศาลฎีกาลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทว่าศาลยังคงลงมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้นายเศรษฐาไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.85-36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/5) ที่ระดับ 36.71/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (20/6) ที่ระดับ 1.0874/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 1.0842/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในวันศุกร์ (17/5) ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการประกาศอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนอยู่ที่ 2.4% เมื่อเทียบรายปีในเดือน เม.ย. ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ในขณะที่นายลูอิส เดอ-กวินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายของยูโรโซนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงกลับมาที่เป้าหมายในปีหน้าจากแรงกดดันด้านราคาที่ลดลง

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้เริ่มอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า หากข้อมูลบ่งชี้เงินเฟ้อชะลอตัว โดยนางลาการ์ดกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์ RTE One ของไอร์แลนด์ว่า “มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 5 มิ.ย. หากข้อมูลที่เราได้รับทำให้เรามีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงสู่ระดับ 2% ในระยะกลาง มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 6 มิ.ย. หากข้อมูลที่เราได้รับทำให้เรามีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงสู่ระดับ 2% ในระยะกลาง”

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0803-1.0884 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/5) ที่ระดับ 1.0810/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (20/5) ที่ระดับ 155.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 155.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนยังคงทิศทางอ่อนค่ากว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค จากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น แม้นายชุนอิชิ ซูซูกิ รมว.คลังญี่ปุ่น กล่าวเตือนว่า เขากังวลกับผลกระทบในทางลบที่เกิดจากการอ่อนค่าของเยน โดยตลาดควรจะเป็นฝ่ายที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ เขายังคงกล่าวเสริมว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะจับตาดูตลาดปริวรรตเงินตราอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมตามความจำเป็น โดยในวันพฤหัสบดี (23/5) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ชั้นต้นประจำเดือนพฤษภาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.5 จากระดับ 49.8 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการทะลุระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 155.47-157.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/5) ที่ระดับ 157.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ