เงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (30/5) ที่ระดับ 32.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากออโตเมติก ดาต้า โพร
เซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 178,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ADP ได้ปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนเมษายน สู่ระดับ 163,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานที่ระดับ 204,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ที่ระดับ 2.2% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.3% นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 จะอยู่ที่ระดับ 2.3% เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ซึ่งมีการเติบโต 2.9% ทั้งนี้ในปี 2560 เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสแรก 3.1% ในไตรมาส 2 3.2% ในไตรมาส 3 และ 2.9% ในไตรมาส 4 การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2, 3 และ 4 ของปีที่แล้ว ถือเป็นการปรับตัวที่แข็งแกร่งที่สุดในช่วง 9 เดือนในรอบ 1 ทศวรรษ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ในปีนี้ มีสาเหตุจากการดิ่งลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งอยู่ในระดับที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นเพียง 1.0% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2556 โดยมีการปรับลดลงจากเดิมที่รายงานที่ระดับ 1.1% หลังจากพุ่งขึ้น 4.0% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวมากกว่า 3% ในไตรมาส 2 ขณะที่การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนฟื้นตัว โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการปรับลดภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนเมษายน 2561 ขยายตัว 4% อยู่ที่ระดับ 103.28 ขยายตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 12 อุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.03% อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.87% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศ การลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.97-32.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.99/32.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (31/5) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1658/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (30/5) ที่ระดับ 1.1606/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากตลาดคลายกังวลเรื่องการเมืองของอิตาลีส่งผลให้ยูโรกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ อย่างไรก็ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (Insee) รายงานว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสมีการขยายตัว 0.2% ในไตรมาสแรก โดยลดลงจากระดับ 1.2% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของการบริโภคในภาคครัวเรือน และการลงทุนในภาคธุรกิจ ทั้งนี้เศรษฐกิจฝรั่งเศสมีการขยายตัว 0.7% ในช่วงสิ้นปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่การบริโภค และการลงทุนลดลง 0.1% และ 0.2% ตามลำดับ Insee ยังระบุว่า การส่งออกของฝรั่งเศสลดลง 0.3% ในไตรมาสแรก เทียบกับระดับ 2.3% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้าลดลง 0.3% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1648/1.1724 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1706/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (31/5) เปิดตลาดที่ระดับ 108.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (30/5) ที่ระดับ 108.79/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในตลาดการเงินหลังจากสื่อเผยสหรัฐเตรียมประกาศมาตรการภาษีนำเข้าเหล็กอะลูมิเนียมกับทางสหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การตอบโต้ของอียู ซึ่งเคยออกมาขู่ว่าจะตอบสนองด้วยการเก็บภาษี นำเข้าสินค้าจากสหรัฐทั้งรถจักรยานยนต์, กางเกงยีนส์ และเหล้าบูร์บอง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 108.55-109.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 108.90/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ (31/5) ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ (31/5) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (1/6) อัตราการว่างงาน (1/6) และอัตรารายได้รายชั่วโมง (1/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.1/-2.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.5/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ