สมาคมประกันฯ ตั้งทีมศึกษาเลื่อนใช้ 2 บัญชีใหม่

บอร์ด ส.ประกันวินาศภัยไทย ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบเกณฑ์บัญชีใหม่ IFRS9-IFRS17 ดึงบอร์ดบัญชี-การเงิน และการลงทุน เป็นเจ้าภาพ ชวนประกันใหญ่ 10-15 แห่ง หารือแชร์ข้อมูล หวั่น “รายกลาง รายเล็ก” เจอพิษตั้งสำรองสูง แบกต้นทุนหนักด้าน “กี่เดช” มองไทยควรขอเลื่อนปรับใช้ในปี”65 ไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมาคม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ได้อนุมัติจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษามาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ IFRS9 และ IFRS17 ซึ่งบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2565 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการการบัญชี-การเงิน และการลงทุน ของสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมได้ว่าจ้างบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นที่ปรึกษาผลกระทบดังกล่าวแล้ว และกำลังเชิญชวนบริษัทประกันวินาศภัยรายใหญ่ 10-15 แห่ง เข้าร่วมแชร์ข้อมูลผลกระทบ เพื่อจะรวบรวมไปหารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สำนักงาน คปภ. และกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางผ่อนปรนต่อไป

กี่เดช อนันต์ศิริประภา

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ บริษัทประกันวินาศภัยรายกลางและรายเล็ก (เบี้ยรับรวมต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท) ปกติจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเกินกว่า 20% อยู่แล้ว หากต้องตั้งสำรองเพิ่ม ต้นทุนก็จะสูงขึ้น” นายกี่เดชกล่าว

นายกี่เดชกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมาทางกลุ่มประกันในไต้หวันได้เลื่อนการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ออกไปอีก 2 ปีข้างหน้า หรือมีผลบังคับใช้ในปี 2567 โดยให้เหตุผลว่า ได้รับผลกระทบด้านการเงินและการบันทึกกำไรขาดทุนต่าง ๆ ในส่วนของประเทศไทยก็ควรจะขอเลื่อนอีก 1-2 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องไปหารือร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชีของไทยต่อไป นอกจากนี้ ทางสมาคมก็กำลังไปหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีระบบประกันภัยก้าวหน้าค่อนข้างมาก ว่าบริษัทประกันภัยในอาเซียน ควรมีแนวทางอย่างไร เพื่อจะได้นำข้อมูลมาใช้ในการประกอบการพิจารณา

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่อาจจะทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองเป็นหลักร้อยล้านบาท เนื่องจากบริษัทจะต้องพิจารณาตั้งแต่ลักษณะการลงทุน ภัยที่รับประกัน เบี้ยประกันภัยรับ และโครงสร้างสินไหมทดแทนต่าง ๆ โดยแต่ละบริษัทจะต้องไปพิจารณาว่าความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR ratio) และสัดส่วนของผู้ถือหุ้นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือว่ามีผู้ลงทุนมากกว่าเมื่อเทียบสัดส่วนเบี้ย (over capitalize) จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก

Advertisment

“ผมว่าการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ต้นปี 2565 อาจจะยังไม่เหมาะสม โดยต้องเข้าไปดูรายละเอียดเนื้อในอีกที เพราะเป็นส่วนสำคัญมาก แต่ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งการจัดทำโครงการกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงสำหรับธุรกิจประกันภัยระยะที่ 2 (RBC) ก็เช่นเดียวกัน” นายจีรพันธ์กล่าว

นายฉัตรชัย พยาฆรินทรังกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบัญชี การเงิน ควบคุมภายในและงบประมาณ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) กล่าวว่า การใช้มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ทั้ง 2 ฉบับ ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 ถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับแนวทางปฏิบัติในกลุ่มประเทศยุโรปที่มีผลบังคับใช้ต้นปี 2564 เนื่องจากระยะห่างกันแค่ปีเดียว อาจจะเกิดผลกระทบร้ายแรงหากขยับปรับตัวไม่ทัน จึงเสนอว่าไทยควรเลื่อนใช้ไปอีก 3 ปีข้างหน้าหรือช่วงต้นปี 2568 เพื่อพิจารณาผลกระทบและสามารถนำข้อผิดพลาดมาปรับแก้ได้ทันท่วงที ซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมมากกว่า

“จากที่พูดคุยกับสำนักงาน คปภ.ยังเป็นห่วงเรื่องนี้อยู่พอสมควร เพราะว่ากลุ่มคนที่เข้าใจยังเป็นกลุ่มคนในวงจำกัด แม้ว่าจะปรับใช้มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่แล้ว แต่คนข้างนอกยังไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นควรปรับใช้ในเวลาที่เหมาะสมและทุกคนต้องเข้าใจมาตรฐานเดียวกัน” นายฉัตรชัยกล่าว