ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า ตลาดยังจับตาประเด็นการค้าสหรัฐและจีน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/6) ที่ 32.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/6) ที่ 32.41/42 บาท/ดอลลาร์ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ได้เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวสูงขึ้น 4.9 จุด สู่ระดับ 25 ในเดือนมิถุนายน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวต่ำลง ซึ่งการที่ดัชนียังคงยืนอยู่เหนือระดับ 9 นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าภาคการผลิตในนิวยอร์กยังคงขยายตัวอยู่ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากทำเนียบขาวออกมาประกาศบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 25% เพื่อตอบโต้การที่จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ในขณะที่รัฐบาลจีนโต้กลับด้วยการเปิดเผยบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่จะถูกเรียกเก็บภาษี 25% เช่นกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐสภาจีน และคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการศุลกากรแห่งรัฐสภาจีน ได้ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐจำนวน 659 รายการ โดยเรียกเก็บในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.61-32.75 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (18/6) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1579/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาด (15/6) ที่ 1.1607/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังค่าเงินดอลลาร์ดีดตัวสูงขึ้น ทางสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน ยูโรโซนมียอดเกินดุลการค้า 1.81 หมื่นล้านยูโร ลดลงจากระดับ 1.98 หมื่นล้านยูโรในเดือนมีนาคม ซึ่งตัวเลขเกินดุลการค้าเดือนเมษายนนั้นถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน และน้อยกว่าที่คาดการณ์ที่มองว่าจะอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านยูโร นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนียังเปิดเผยด้วยว่าการจ้างงานโดยรวมในภาคการผลิตปรับตัวขึ้น 2.77% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การจ้างงานในเยอรมนีจะปรับตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงมีแนวโน้มซบเซา โดยสถาบันเยอรมนีเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจ (DIW) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีลง จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.2% ในปี 2561 ได้ปรับลดลงเป็น 1.9% ในขณะเดียวกันก็ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของปี 2562 จากเดิมซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 2.4% เหลือเพียง 1.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1562-1.1612 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1597/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (18/6) เปิดตลาดที่ระดับ 110.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรับ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (15/6) ที่ระดับ 110.66/68 เยน/ดอลลาร์ โดยการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยนั้นได้รับอานิสงส์จากความกังวลของตลาดในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และในวันนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้า 5.783 แสนล้านเยน (5.2 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ยอดส่งออกในเดือนพฤษภาคมขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 14% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.29-110.74 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.55/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดขายบ้านของสหรัฐ (20/6) ยอดน้ำมันดิบคลัง (20/6) การประชุมของ กนง.(20/6) การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (21/6) การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (14/6) ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซน (22/6) และดัชนี PMI ภาคบริการของยูโรโซน (22/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.00/-2.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.10/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ