สศค.ชู​4 มาตรการรองรับสังคมสูงวัย เปิดสถิติประชากรสูงอายุไทย แตะ​ 20.9 ล้านคน ในปี2578

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษบกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) ความร่วมมือการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย กับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทางสศค.ได้ร่วมโครงการการวิจัยดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงวัยในการเสนอแนะนโยบายและมาตรการทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อลดผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุที่มีต่อศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป

สำหรับมาตรการของสศค. เพื่อรองรับผู้สูงอายุในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ด้าน อาทิ 1.มาตรการด้านหลักประกันรายได้ยามชราภาพ โดยส่งเสริมแรงงานนอกระบบให้เห็นความสำคัญของการออมเงินเพื่อใช้ในยามชราและสนับสนุนให้มีการเข้าถึงช่องทางการออมที่เหมาะสม รวมถึงแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบควรมีการออมเพิ่มเติมระหว่างวัยทำงานเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ 50-60% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย นอกจากนี้มาตรการทางภาษีที่สนับสนุนการออมชราภาพได้มีการยกเว้นสำหรับเงินที่ได้รับจากกองทุนเพื่อการชราภาพและลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ส่งเข้ากองทุน รวมถึงการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตและประกันชีวิตแบบบำนาญ 2.มาตรการด้านการจ้างงาน โดยกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการสนับสนุนผู้สูงอายุในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สถานประกอบการณ์ที่มีการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุ 3.มาตรการด้านที่อยู่อาศัย รัฐได้สนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยให้มีความเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุบนที่ราชพัสดุและบนพื้นที่อื่นๆเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และ 4.มาตรการด้านการให้ความรู้ทางการเงิน โดยกระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินปี60-64 เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินระดับประเทศ

นางสาววิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จำนวนประชากรในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ส่งผลกระทบต่อวัยของประชากรทั้งระบบ รวมถึงอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีวัยเด็กลดลงเรื่อยๆ ตามสัดส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการเสียสมดุลทางประชากร จากการวิจัยของวิทยาลัยประชากรศาสตร์ ฯ พบว่าแนวโน้มประชากรของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี 58 มีจำนวนประชากรอยู่ที่ 906 ล้านคน คิดเป็น 12.3% ต่อประชากรโลก คาดว่าในปี 78 จะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 1.6 พันล้านคน คิดเป็น 17.8% ต่อประชากรโลก อย่างต่อเนื่อง รวมถึงในปี 78 ไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 20.9 ล้านคน คิดเป็น 30% ของจำนวนประชากร จากปี 60 อยู่ที่ 11.7 ล้านคน คิดเป็น 16.9% ของจำนวนประชากร

“สิ่งที่ท้าทายในอนาคตสำหรับสังคมสูงวัยซึ่งมีหลายด้าน อาทิ การพัฒนาระบบให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประชากร การมีระบบหลักประกันรายได้ให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มและลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการลดความเสี่ยงของแต่ละระบบและคำนึงถึงภาระการเงินการคลัง นอกจากนี้เราจะดึงภาคเอกชน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ซึ่งทางเราจะมีการศึกษา วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลสังคมผู้สูงอายุระหว่างหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ต่อไป” นางสาววิพรรณ กล่าว

Advertisment

อย่างไรก็ตามทางวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสศค. จะรายงานความคืบหน้าผลการวิจัยในการศึกษาและวิเคราะห์ของโครงการดังกล่าวในอนาคตต่อไปทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้สศค.สามารถออกมาตรการและเสนอนโยบายให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น