ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัว ตลาดดูทีท่าประเด็นภาษีนำเข้าระหว่างยูโรโซนและสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/6) ที่ 32.94/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/6) ที่ 32.95/97 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตามองปัญหาเรื่องการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนที่จะห้ามบริษัทของจีนเข้าลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐ และจะห้ามบริษัทสหรัฐส่งออกสินค้าเทคโนโลยีให้กับจีน โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่่นคง กระทรวงการคลังสหรัฐกำลังร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อสั่งห้ามไม่ให้บริษัทที่มีชาวจีนถือหุ้นอยู่อย่างน้อย 25% เข้าซื้อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ นอกจากนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมมือกันจัดทำแผนเพื่อควบคุมการส่งออกให้เข้มงวด ขึ้นเพื่อป้องกันการส่งออกเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมไปยังประเทศจีน วอลล์สตรีท เจอร์นัลระบุว่า ทั้งสองมาตรการมีกำหนดจะประกาศภายในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อให้มาตรการตอบโต้นโยบาย เมดอินไชน่า 2025 (Made in Chaina2015) ซึ่งจีนได้ริเริ่มเป้าหมายดังกล่าวเพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่าย ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการขายทำกำไรของนักลงทุนหลังขึ้นไปแตะระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.92-33.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (25/6) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1654/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาด (22/6) ที่ 1.1655/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นอกจากปัญหาระหว่างสหรัฐกับจีนแล้ว ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและยูโรโซนก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลอยู่เช่นกัน หลังเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปได้ประกาศจัดเก็บภาษีสินค้าของสหรัฐมูลค่า 2.8 พันล้านยูโรเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อเป็นการตอบโต้การจัดเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ซึ่งในภายหลังได้มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า ความพยายามของสหภาพยุโรป (EU) ในการจุดชนวนสงครามการค้าด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้าของสหรัฐนั้นจะถูกตอบโต้กลับมาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมองว่าการตอบโต้ของ EU นั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจุดยืนที่แข็งกร้าวทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1625-1.1673 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1642/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (25/6) เปิดตลาดที่ระดับ 109.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (22/6) ที่ระดับ 109.96/99 เยน/ดอลลาร์ โดยได้รับอานิสงส์จากการที่นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากรายงานสรุปความคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ซบเซาของญี่ปุ่นนั้นยังเป็นสิ่งที่กรรมการหลายท่านวิตกกังวล โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ถึงแม้ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 แต่ก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ซึ่งกำหนดไว้ที่ระดับ 2% นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า บริษัทต่าง ๆ ยังคงระมัดระวังในการขึ้นค่าแรงให้กับพนักงาน ทำให้แนวโน้มในการบรรลุเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคาน่าจะยังคงต้องใช้เวลาต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.35-110.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.51/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลข Core CPI ของญี่ปุ่น (26/6) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (26/6) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (27/6) ตัวเลข CPI ของเยอรมัน ตัวเลข GDP ของสหรัฐ (28/6) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (28/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.95/-2.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment