เงินเยนแข็งค่า หลังตลาดกังวลสงครามการค้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 11 กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/7) ที่ระดับ 33.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (10/7) ที่ 33.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่เปิดรับสมัครโดยสถานประกอบการในสหรัฐ ลดลงสู่ระดับ 6.6 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม จากระดับ 6.8 ล้านตำแหน่งในเดือนเมษายน ในขณะที่มีตัวเลขคนว่างงานเพียง 6 ล้านคน โดยตำแหน่งงานว่างในเดือนพฤษภาคมนั้นมีจำนวนมากกว่าคนว่างงานเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ (10/7) รัฐบาลสหรัฐ ได้มีการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (10/7) โดยสหรัฐ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 10% ซึ่งครอบคลุมสินค้าจำนวน 6,031 รายการ ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าด้านการเกษตร หลังจากสหรัฐ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้า โดยคาดว่ามาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมในครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2561 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.20-33.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (11/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1728/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/7) ที่ 1.1719/21 แม้ว่าตลาดยุโรปจะได้รับแรงกดดันจากความผันผวนทางการเมืองในอังกฤษ ทั้งนี้ความแตกแยกของคณะรัฐมนตรีอังกฤษในประเด็นการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลนักลงทุนยังวิกฤตกังวลเกี่ยวกับอนาคตของอังกฤษ ในกรณีที่อังกฤษไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับ Brexit ได้ อาจส่งผลต่องบประมาณของสหภาพยุโรป รวมถึงสิทธิของประชาชนในสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ในแง่ของการอาศัยและเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1702-1.1738 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1708/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (11/7) เปิดตลาดที่ระดับ 110.89/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (10/7) ที่ 111.28/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีความเสี่ยงในเรื่องสงครามการค้าทำให้นักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าสำนักงานคณะรัฐบาลญี่ปุ่น ได้เปิดเผยตัวเลขยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภคสำหรับเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลง 3.7% จากเดือนเมษายน มาอยู่ที่ระดับ 9.079 แสนล้านเยน หรือประมาณ 8.2 พันล้านดอลลาร์ โดยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานถือเป็นดัชนีชี้วัดการใช้จ่ายด้านทุนของบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมานั้น บริษัทเอกชนญี่ปุ่นได้เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อขยายศักยภาพด้านการผลิตให้เพียงพอต่ออุปสงค์จากต่างประเทศ และได้นำเครื่องจักรมาใช้แทนคนในกาทำงาน เพื่อรองรับภาวะขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.89-111.20 ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์หนี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ (11/7) ปริมาณการสต๊อกน้ำมันดิบ (11/7) แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา (11/7) แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก (11/7) ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (12/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ (12/7) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เดือนมิถุนายน และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนมิถุนายนของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิถุนายน ของเยอรมนีและฝรั่งเศส (12/7) ดุลการค้าของญี่ปุ่น (13/7)

Advertisment

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.0/-1.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ