BA ชี้ Q2 ผลดำเนินงานแผ่ว ชูแผนครึ่งปีหลังปั๊มรายได้ปีนี้โต 10%

“บางกอกแอร์เวย์ส” ส่งซิกไตรมาส 2/61 เป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว ฉุดผลดำเนินงานออกมาต่ำกว่าไตรมาสแรก ชี้ครึ่งปีหลังมาแรงกว่าครึ่งปีแรกเร่งเครื่องทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบิน-เปิดเส้นทางใหม่ รวมถึงเพิ่มพันธมิตรสายการบินอีก 1-2 ราย หนุนรายได้ทั้งปีโตตามเป้า 7-10% พร้อมตั้งรับปัญหาค่าเงินกระทบต้นทุนราคาน้ำมัน ชูแผนขยายธุรกิจใหม่ “ดิวตี้ฟรี” ปั๊ม รายได้ 3-5 ปีเพิ่มเป็น 5% ของรายได้รวม

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในงวดไตรมาส 2/61 ที่เป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยว น่าจะออกมาต่ำกว่างวดไตรมาส 1/61 ที่มีรายได้รวม 8,050 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 710 ล้านบาท เพราะว่าช่วงไตรมาส 1/61 ผลประกอบการเติบโตชัดเจนจากอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) ที่อยู่สูงถึง 76.4% แต่อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 2 ที่จะออกมาในเร็ว ๆ นี้ ถือว่าดีกว่าไตรมาส 2 ปีก่อน

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่าผลดำเนินงานจะดีกว่าครึ่งปีแรกนี้ ตามบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เริ่มคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรปที่เริ่มกลับมาหลังภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับช่วงไตรมาส 3/61 เป็นช่วงฮอลิเดย์ (วันหยุด) ของนักท่องเที่ยวยุโรป และในช่วงไตรมาส 4/61 เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นหรือฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงจำนวนยอดจองตั๋ว (booking) ล่วงหน้า 11 เดือน เพิ่มขึ้น 2-3%

“สิ่งที่ต้องจับตาคือเรื่องราคาน้ำมันและทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หากทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าไปอีก เนื่องจาก based ราคาน้ำมัน มีต้นทุนคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ” นายพุฒิพงศ์กล่าว

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2561 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 7-10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2.84 หมื่นล้านบาท โดยมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 7% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 5.94 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มากกว่า 50% เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป รวมถึงอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) จะเฉลี่ยอยู่ที่ 70.5% จากปีླྀ ที่อยู่ที่ 68%

ทั้งนี้ ภายในปีนี้บริษัทจะมีเครื่องบินทั้งสิ้น 40 ลำ ซึ่งจะมีเครื่องบินใหม่เข้ามา ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส เอ 319 อีก 1 ลำภายในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ และปลายปีมีเครื่องบิน ATR รุ่น 600 อีกจำนวน 2 ลำ ทั้งนี้จะรองรับแผนเพิ่มความถี่การบินของบริษัทโดยในครึ่งปีหลัง บริษัทจะเปิดเส้นทางบินใหม่ในช่วงฤดูหนาว คือ เส้นทางภูเก็ต-ย่างกุ้ง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จะเริ่มเปิดช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ และมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในอีกหลายเส้นทางเพื่อรองรับความต้องการ อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-ตราด จากเดิม 3 เที่ยวบิน มาเป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางกรุงเทพฯ-เกาะฟูโกว๊ก (เวียดนาม) จากเดิม 5 เที่ยวบิน มาเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ นอกจากนี้จะเพิ่มพันธมิตรสายการบิน (code share) อีก 1-2 รายภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 26 สายการบิน โดยจะเน้นกระตุ้นตลาดเส้นทางบินระยะสั้นในกลุ่มประเทศ CLMV เพราะมีกำลังซื้อที่สูงจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดี

“แผนในปีนี้ เราจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 2,100 ล้านบาท โดยหลัก ๆ จะใช้ไปกับการซื้อเครื่องบิน ATR รุ่น 600 จำนวน 2 ลำ ซึ่งจะรับมอบเครื่องบินภายในปลายปีนี้ และลงทุนจัดตั้งครัวการบินที่ จ.เชียงใหม่ จำนวน 350 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4/61 แต่สำหรับโรงซ่อมบำรุงยังไม่ได้ใช้งบฯปีนี้ รวมถึงการลงทุนปรับปรุงระบบสำรองที่นั่งจากระบบ sabre มาเป็นระบบอะมาดิอุส (Amadeus) ที่จะช่วยประหยัดต้นทุนและสามารถปรับราคาแข่งขันให้ทันกับคู่แข่งได้ ซึ่งคาดจะเริ่มใช้ระบบใหม่นี้ได้ช่วงไตรมาส 3/62” นายพุฒิพงศ์กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ จ.สุโขทัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบให้รองรับเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 และแอร์บัส เอ 319 ได้ทั้ง 2 ลำ ซึ่งจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้างไว้ 10,000 ตารางเมตร โดยคาดจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท และสามารถเปิดใช้งานได้ในช่วงกลางปี 2563 ส่วนโรงซ่อมบำรุงที่สุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จัดสรรพื้นที่เพื่อรองรับการซ่อมเครื่องบิน ซึ่งยังไม่มีความแน่นอน แต่คาดว่าพื้นที่ความจุ (capacity) น่าจะรองรับเครื่องบินได้เพียง 1 ลำ โดยเตรียมเงินลงทุนไว้ที่ 500 ล้านบาท

“ปัจจุบันบริษัทมีโรงซ่อมบำรุงที่สนามบินดอนเมืองอยู่แล้ว ซึ่งสามารถซ่อมบำรุงได้ 1 ลำ แต่ไม่เพียงพอในการให้บริการเครื่องบินของบริษัท จึงจำเป็นต้องขยายออกไป โดยบริษัทตั้งเป้าโรงซ่อมบำรุงที่ จ.สุโขทัย ให้เป็นโรงซ่อมใหญ่เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ เพราะในทุกปีมีเครื่องบินที่ต้องเข้าซ่อมใหญ่แทบจะทุกเดือนอยู่แล้ว ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการซ่อมราว 2-3 อาทิตย์ต่อลำ” นายพุฒิพงศ์กล่าว

สำหรับการขยายธุรกิจ “ร้านค้าปลอดอากรในสนามบิน” หรือ duty free ภายใต้แบรนด์ “มอร์แดนฟรี” นั้น นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมี 4 แห่งแล้ว ได้แก่ เกาะสมุย, สุราษฎร์ธานี, อู่ตะเภา, หลวงพระบาง ซึ่งเริ่มมีรายได้เข้ามาราว 10 ล้านบาท หรือ 1% ของรายได้รวม อย่างไรก็ตาม บริษัทสนใจะเข้าร่วมประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรี ทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างชาติ 3 ราย ทั้งสัญชาติยุโรปและเอเชียที่สนใจร่วมทุนด้วย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือนนี้

“ธุรกิจใหม่นี้จะเป็นแนวทางในการเพิ่มรายได้และโอกาสในการต่อยอดจากธุรกิจหลัก (สายการบิน) ให้กับบริษัท เพราะธุรกิจการบินในไทยยังมีการแข่งขันที่รุนแรง มีการตัดราคากันมาก ซึ่งส่งผลต่อมาร์จิ้นที่ได้รับค่อนข้างเบาบาง บริษัทจึงพยายามกระจายความเสี่ยง และเห็นว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีมีโอกาสเติบโตสูง ตามสถิตินักท่องเที่ยวที่เข้ามาในแต่ละปี เราตั้งเป้าใน 3-5 ปีนี้จะมีสัดส่วนรายได้จากดิวตี้ฟรีเพิ่มขึ้นเป็น 5% ของรายได้รวม” นายพุฒิพงศ์กล่าว