2 บิ๊กแบงก์เกียรตินาคิน ชูแผน 3 ขาธุรกิจกระจายรายได้

บรรยง พงษ์พานิช - อภินันท์ เกลียวปฏินนท์

ย่านถนนเยาวราช ถือเป็นแลนด์มาร์กใหญ่ของธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP ที่ปักธงสีฟ้าเปิดศูนย์บริการทางการเงินครบวงจร หรือ “financial hub” เป็นแห่งที่ 3 ไปเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นการยกระดับจากสาขาทั่วไป เพราะจะมีให้บริการลูกค้าไพรเวต เวลท์อย่างเต็มรูปแบบเพิ่มเติมจากบริการเงินฝาก-สินเชื่อเช่นสาขาปกติ ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากธุรกิจ wealth management ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ KKP ที่สร้างรายได้เติบโตดีงาม โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้บริหารแบงก์ได้เปิดบ้านแถลงข่าวประจำปีกับสื่อมวลชน

แม้ว่า นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มการเงินเกียรตินาคิน ภัทร จะออกตัวกับสื่อมวลชนที่มาร่วมงานว่า แบงก์เกียรตินาคินเป็นแบงก์เล็ก ๆ ก็ตาม (จริง ๆ แล้วก็เป็นแบงก์ไม่เล็กเพราะมีขนาดมูลค่าราคาตลาดถึง 6.45 หมื่นล้านบาทในตลาดหุ้นไทย) แต่เป็นแบงก์ที่เน้นเรื่องคุณภาพและการบริหารความเสี่ยง ที่สำคัญอะไรที่ขาดทุนจะไม่ทำ ดังนั้น หากแบงก์ไหนแข่งขันกันเรื่องราคา แบงก์นี้จะไม่เข้าร่วมวงด้วย หรือที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์ไทยประกาศยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การโอนเงินเป็น 0% (กระทบต่อรายได้ค่าฟี) ซึ่งก็ถือเป็นเซอร์ไพรส์ในวงการแบงก์ทีเดียว แต่บังเอิญ KKP ไม่ได้เล่นในตลาดนี้มากนัก

“ที่ว่ากันว่า แบงก์ไทยสบายมานาน เหมือนเสือนอนกิน แต่ตอนนี้ก็โดนกันบ้างแล้ว จากค่าฟีที่หายไป ใครจะคิดว่าแบงก์พาณิชย์จะมาถึงจุดที่ให้ฟรีกับลูกค้าได้”

นายบรรยงยังให้ข้อคิดบางเรื่อง เช่นว่าโลกนี้มีเซอร์ไพรส์ตลอด และโลกนี้มี 4 สิ่งนี้เสมอ คือ ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ ดังนั้น อย่าถามหาความชัดเจน เป็นต้น

นายบรรยงยังได้กล่าวถึงสาขาไฟแนนเชียลฮับว่า ตกแต่งภายในเป็นสถาปัตยกรรมจีนคลาสสิกไว้รองรับกลุ่มลูกค้าเวลท์ที่มีจำนวนไม่น้อยบนย่านเยาวราชเส้นนี้โดยเฉพาะ ขณะที่ธุรกิจเวลท์แมเนจเมนต์ถือจุดแข็งของกลุ่ม KKP อยู่แล้ว เพราะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแบงก์กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร โดยขณะนี้มีทีมที่ปรึกษาทางการเงิน (financial consultant) ที่มาจาก บล.ภัทร เป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนราว 60 คน ซึ่งทีมงานนี้จะถูกประเมินผลงานผ่านการวัดผลตอบแทนและการบริหารความเสี่ยงให้แก่ลูกค้าเวลท์ที่มาใช้บริการด้วย

ด้านนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคิน ภัทร กล่าวถึงเป้าหมายของธุรกิจเวลท์ที่จะเดินในระยะข้างหน้าว่า ในครึ่งปีหลังนี้จะขยายผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนอย่างบัญชี KKPSS, Fund Links Note ซึ่งต่อไปจะเป็นทั้งฐานเงินฝากและค่าฟีของธนาคารในอนาคต และขณะนี้มีลูกค้าเวลท์ที่สนใจไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เตรียมจะเปิดให้บริการการลงทุนในต่างประเทศ (offshore investment) โดยร่วมกับอินเวสต์เมนต์แบงก์และแอสเซตแมเนจเมนต์ของต่างประเทศราว 10 แห่ง ซึ่งผ่านการกลั่นกรองโดยทีมวิจัยลูกค้าบุคคล โดยจะมีทีมที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาวางแผนการลงทุนนำเสนอต่อลูกค้าแต่ละรายอีกด้วย

Advertisment

“ธุรกิจเวลท์ของเรากำไรโต 3-4 เท่า ซึ่งตลาดเวลท์นี้ก็ยังมีโอกาสโตได้อีกเยอะ ซึ่งเราก็คงไม่ได้จะไปเน้นแข่งเรื่องพริวิเลจ (privilege) แต่เราจะใส่ใจ content ของการให้บริการ เป้าหมายเราเป็นเรื่องผลตอบแทน การจัดสัดส่วนการลงทุนอย่างไร ที่ผ่านมา เราเป็นผู้นำโปรดักต์อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ของธนาคารและธุรกิจตลาดทุนทั้ง บล.และ บลจ.ต่าง ๆ ให้ลูกค้าลงทุน”

ซีอีโอกล่าวอีกว่า ขณะนี้ KKP มีมาร์เก็ตแชร์ 35% ถ้ารวม 3 เจ้าใหญ่ในธุรกิจนี้ก็กินมาร์เก็ตแชร์ไปแล้ว 80% โดยเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ลูกค้าเวลท์หรือไพรเวตแบงก์ของ KKP มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) อยู่ที่ 4.59 แสนล้านบาท ซึ่งลงทุนในประเทศ แต่ถ้าพาลูกค้าออกไปลงทุนในต่างประเทศอีก ก็คาดว่าจะขยาย AUM ขึ้นมาเป็น 6-7 แสนล้านบาทในระยะข้างหน้าได้ ซึ่งถือว่าจะเป็นการเพิ่มมาร์เก็ตแชร์การให้บริการบนกระเป๋าเงินของลูกค้า (share of wallet) แต่ทั้งนี้ซีอีโอขอไม่ตอบว่าจะทำได้ถึงเป้าหมาย AUM ได้ในปีไหน เพราะในส่วนที่เป็นเงินลงทุนจะขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของตลาดหุ้นด้วย

Advertisment

อีกธุรกิจที่เติบโตก้าวกระโดด คือ ธุรกิจตลาดเงินและธุรกิจวาณิชธนกิจ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานประสานร่วมกันกับบริษัทลูก คือ บล.ภัทร ทำให้สินเชื่อกลุ่มนี้เติบโตกว่า 60% และจะเห็นชื่อเกียรตินาคิน ภัทรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับดีลธุรกิจใหญ่มากขึ้น ทำให้สัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

มาที่ธุรกิจสินเชื่อที่เป็นพอร์ตใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา (งวดครึ่งปีแรก) ก็เติบโตในทุกส่วน อย่างเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ โตราว 2.8% จากสิ้นปีก่อน ซึ่งจะเน้นปล่อยกู้รถมือสองมากกว่ารถมือหนึ่ง ทำให้พอร์ตรถมือสองมีสัดส่วน 60% และรถใหม่ 40% ของพอร์ตเช่าซื้อที่มียอดคงค้าง 1.1 แสนล้านบาท และปล่อยสินเชื่อ CarQuikCash ซึ่งขณะนี้มียอดกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว ทิศทางในครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะยังสามารถทำได้ดีเรื่อย ๆ แต่ก็จะพยายามหาโปรดักต์มาต่อยอดโดยเฉพาะการเจาะกลุ่มเซ็กเมนต์

ขณะที่สินเชื่อบรรษัท (ธุรกิจรายใหญ่) ที่ปีนี้โตได้มากถึง 60% ซึ่งเป็นผลจากการทำงานกับ บล.ภัทรเข้าขากันมากขึ้น ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นชื่อของเกียรตินาคิน ภัทรเข้าไปในดีลใหญ่ ๆ

ด้านสินเชื่อบุคคล (ไม่รวมเช่าซื้อ) เติบโต 24% ซึ่งจะมีสินเชื่อบ้าน สินเชื่อที่ให้ผู้ประกอบการอสังหาฯโตถึง 18% มาจากการเข้าไปปล่อยดีเวลอปเปอร์รายใหญ่และเป็นบริษัทในตลาด ส่วนลอมบาร์ดโลน (Lombard Loan) ต้องยอมรับว่าโตน้อย

ส่วนปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL ที่เคยสูงถึง 5% ของพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/61 ลดลงมาอยู่ที่ 4.5% นั้น นายอภินันท์กล่าวว่า จากนี้ไปจะเห็นการลดลงของเอ็นพีแอลอีก โดยหวังว่าจะเห็นลดลงจากกลุ่มที่มีเอ็นพีแอลสูง ๆ อย่างสินเชื่อธุรกิจอสังหาฯที่อยู่ 17.5% ส่วนเช่าซื้อมีเอ็นพีแอลกว่า 2% และสินเชื่อบุคคลที่อยู่ 1.9-2% แนวโน้มการตั้งสำรองก็หวังจะน้อยลงได้

นายอภินันท์ยืนยันว่า จะเลือกทำในโปรดักต์และกลุ่มลูกค้าที่ทำแล้ว มีอัตราผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงที่เหมาะสม หรือสามารถนำไปสู่รายได้ด้านอื่นให้แก่กลุ่มธุรกิจ KKP

และนี่คือ business model ของ KKP ใน 3 สาขาธุรกิจหลักที่มีเป้าหมายต้องการกระจายโครงสร้างรายได้ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแผนธุรกิจที่วางไว้ก็ต้องเดินหน้าต่อไป แต่ก็มีภารกิจที่ต้องแก้หนี้เสียที่สูง อย่างไรก็ตาม หากดูราคาหุ้นของ KKP ล่าสุด (14 ส.ค.) อยู่ที่ 76.25 บาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีที่อยู่ 50.56 บาท