ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค หลังความขัดแย้งทางการค้ารุนแรงขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/9) ที่ 32.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/9) ที่ 32.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าจากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่ประธานาธิบดีของสหรัฐเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจีน 2.0 แสนล้านเหรียญ และยังขู่เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2.67 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งตลาดยังรอดูการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับแคนาดา นอกจากนี้นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับการที่สหรัฐจะทำสงครามการค้ากับญี่ปุ่นเป็นประเทศต่อไป โดยในวันศุกร์ (7/9) กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 201,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 191,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.9% ในเดือน ส.ค. ขณะที่นักสวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.8% ขณะเดียวกันตัวเลขค่าจ้่างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 10 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.4% จากระดับ 0.3% ในเดือน ก.ค. และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2552 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.7% โดยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่สามของปีนี้ในการประชุมวันที่ 28-26 ก.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.84-32.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.85/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (10/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1560/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโฑร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/9) ที่ 1.1632/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 2 ขณะที่ธุรกิจและการลงทุนอื่น ๆ ขยายตัวมากขึ้น แม้การค้าสุทธิติดลบก็ตาม และยังได้ทบทวนข้อมูลจีดีพีเมื่อเทียบรายปีเป็น 2.1% จาก 2.2% ส่วนเศรษฐกิจของเยอรมนีขจยายตัว 05% ในไตรมาส 2 โดยสำนักงานสถิติรัฐบาลกลางของเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างไม่คาดคิดในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณใหม่ที่บ่งชี้ว่า ผู้ผลิตในเยอรมนีกำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งนี้ยอดส่งออกลดลง 0.9% ในเดือน ก.ค. และยอดนำเข้าพุ่งขึ้น 2.8% ขณะที่ผลสำรวจของรอยเตอร์คาดไว้ว่า ทั้งยอดส่งออกและยอดนำเข้าอาจจะเพิ่มขึ้น 0.2% ขณะเดียวกันกระทรวงเศรษฐกิจเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 1.1% เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขจึ้น 0.2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1527-1.1567 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1561/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (10/9) เปิดตลาดที่ระดับ 110.91/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (7/9) ที่ระดับ 110.78/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2561 ขยายตัว 3.0% เมื่อเทียบเป็นรายปีซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระดับ 1.9% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า GDP ญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 2 หลังจากที่หดตัวลง 0.6% ในไตรมาส 1 เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ดีนักลงทุนไม่มั่นใจในการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวเลขยอดส่งออก, ผลผลิตภาคโรงงาน และตัวเลขอื่น ๆ อยู่ในภาวะอ่อนแอ นอกจากนี้นักวิเคราะห์บางรายก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะหดตัวลงในไตรมาสปัจจุบันด้วย โดยเป็นผลจากภัยธรรมชาติในระยะนี้ ซึ่งรวมถึงอุทกภัย, พายุใต้ฝุ่นในสัปดาห์ที่แล้ว และเหตุแผ่นดินไหว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.86-111.08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ส.ค. (12/9), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (13/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/9), อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. (13/9), ยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. (14/9), การผลิตภาคอุตสาหกรรมรายเดือน ส.ค. (14/9), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือน ก.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (14/9)

สำหรับอัตราป้องกัความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.80/-2.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -3.00/-2.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ