ปิดงบ ก.ย.ออมสิน-ธกส.โชว์กำไรงาม

แบงก์รัฐโชว์ผลงาน 9 เดือน อัดสินเชื่อเอสเอ็มอี-รากหญ้า ออมสินโชว์กำไรโต 25% ตีปีกปล่อยกู้ทะลุเป้าหลังขยายศูนย์สินเชื่อเอสเอ็มอี 82 สาขา ฟุ้งทั้งปีสินเชื่อโต 2 เท่าของ GDP ด้าน ธพว.เร่งเครื่องส่งสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีรายเล็ก ฟาก ธ.ก.ส.ปิดงวดครึ่งปีบัญชีโกยกำไร 4.5 พันล้านเผยปล่อยสินเชื่อ 1 หมื่นล้าน เตรียมปล่อยอีก 8.3 หมื่นล้านบาทรองรับเริ่มฤดูเพาะปลูก ด้านธสน.เดินหน้าปล่อยสินเชื่อพุ่งหาเป้าแตะ 1 แสนล.

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2561 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 25,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 25% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ถือว่าทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% หรือราว 1.2 แสนล้านบาท ด้านเงินฝาก ยังอยู่ระดับใกล้เคียงปีที่แล้ว แต่ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้จะมีการระดมเงินฝากเพิ่มขึ้นอีกราว 8 หมื่นล้านบาท หรือโตราว 4% จาก ณ สิ้นปี 2560 ที่มีเงินฝาก 2.26 ล้านล้านบาท

“ที่ผ่านมา เรามีการขยายศูนย์สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นเป็น 82 สาขา จากเดิมที่มี 18 สาขา ทำให้มีศักยภาพในการขยายสินเชื่อมากขึ้น อีกส่วนคือ สินเชื่อภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเรามีการเร่งสินเชื่อบ้าน ทำให้สินเชื่อโดยรวมมีอัตราขยายตัวที่ดี และช่วงที่เหลือเราก็พยายามรักษาระดับการเติบโตไว้ไม่ให้ลด เพราะจะมีลูกค้าบางส่วนคืนหนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ถึงสิ้นปีสินเชื่อก็น่าจะเติบโตได้ 8% หรือโตได้ 2 เท่าของ GDP”

นายชาติชายกล่าวว่า ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วง 9 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.3% จากสิ้นปี 2560 ที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.05% เนื่องจากช่วงกลางปีจะเป็นช่วงที่ NPL เพิ่มขึ้นสูงสุด (พีก) ทุก ๆ ปี ซึ่งจะพยายามคุม NPL ไม่ให้เกิน 2.2-2.3% ภายในสิ้นปีนี้

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ช่วง 9 เดือน ธพว.อนุมัติสินเชื่อแล้ว 28,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างรอเบิกจ่ายประมาณ 5,700 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่ 32,500 ล้านบาท เนื่องจากช่วงปลายปีจะเป็นช่วงที่เอสเอ็มอีขอสินเชื่อทำธุรกิจกันค่อนข้างมาก

“ตอนนี้มีสินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการ จะอนุมัติใน 7 วันอีกราว 9,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากแอปพลิเคชั่น SME D Bank ที่เข้ามาช่วยในการอนุมัติสินเชื่อ โดยตอนนี้มีคนดาวน์โหลดแล้วตกเกือบ 7 หมื่นราย ขณะเดียวกันก็มีรถม้าเติมทุนอีกกว่า 600 คัน ก็ครอบคลุมได้ถึงเกือบ 6,000 ตำบลทั่วประเทศแล้ว”

นายมงคลกล่าวว่า ส่วน NPL ช่วง 9 เดือนนี้ สำหรับ NPL ใหม่ อยู่ที่ 0.04% ทั้งนี้ ตั้งแต่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ปล่อยสินเชื่อ 1.16 แสนล้านบาท เป็น NPL อยู่ที่ 4.2% (ไม่รวม NPL เก่า) และคาดว่าในสิ้นปีนี้ NPL ส่วนนี้จะลดเหลือ 3.7% จากฐานสินเชื่อที่ปล่อยใหม่

นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ผลดำเนินงาน ธ.ก.ส. 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2561 (เม.ย.-ก.ย. 2561) ได้ปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 93,000 ล้านบาท ซึ่งปล่อยสินเชื่อได้น้อยในครึ่งปีแรก ถือว่าเป็นภาวะปกติ เพราะ ธ.ก.ส.จะมีสัดส่วนปล่อยกู้มากในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ของทุกปี ที่เป็นการเริ่มฤดูการผลิต ซึ่งแม้ว่าครึ่งปีหลังต้องปล่อยสินเชื่ออีก 83,000 ล้านบาท ก็เชื่อว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย

“ในช่วงครึ่งปีหลัง ธ.ก.ส.จะเน้นการปล่อยสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอีเกษตร สหกรณ์ และสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตที่ดีและมีศักยภาพ” นายศรายุทธกล่าว

ทั้งนี้ ณ สิ้น ก.ย.61(งวด 6 เดือน) ธ.ก.ส. กำไร 4,456 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วกำไรอยู่ที่ราว 9,000 ล้านบาท

นายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ด้านระดมเงินฝากในปีบัญชี 2561 นี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้น 57,000 ล้านบาท หรือมียอดเงินฝาก ณ สิ้นปีบัญชีที่ 1.587 ล้านล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึง 21 ต.ค. 61 ยอดเงินฝากลดลง 13,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินฝากส่วนราชการมีการถอนเงินในช่วงรอยต่อปีงบประมาณ แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง ยอดเงินฝากจะกลับมาปกติ รวมถึงจะออกโปรดักต์ระดมเงินฝากต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับการปล่อยสินเชื่อ

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อโดยรวมอยู่ที่ 96,000 ล้านบาท และคาดไตรมาส 4 นี้ จะทำยอดสินเชื่อรวมแตะ 100,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารคาดว่าปีนี้สินเชื่อโดยรวมโตราว 10% และปีหน้าเติบโต 10% เช่นกัน

“เนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าที่เกิดขึ้น เริ่มกระทบต่อผู้ส่งออกชะลอตัวบ้างแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. 61 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาคส่งออกไทยเติบโตไม่ได้มาก หลังจากที่ 9 เดือนแรกส่งออกไทยโตแล้ว 9% ปีนี้ทั้งปีภาคส่งออกก็น่าจะโต 8%” นายพิศิษฐ์กล่าว

ส่วน NPLของธนาคาร ณ สิ้น ก.ย. 61 อยู่ที่ 3.6% และคาดว่าสิ้นปีนี้อาจขึ้นมาที่ 3.7-3.8% ซึ่งก็เป็นผลจากสงครามการค้า โดยเฉพาะพวกที่เกี่ยวกับรถยนต์และเกษตร ซึ่งก็มีผู้ประกอบการบางรายที่ยังปรับตัวไม่ทัน แต่ธนาคารจะพยายามคุมให้อยู่ไม่เกิน 4%

ด้านข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงข้อมูลผลดำเนินงานของแบงก์รัฐ 6 แห่ง ปี 2561 ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธพว. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และไอแบงก์ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2561 ว่า มีกำไรสุทธิในภาพรวมแล้ว 34,745 ล้านบาท หรือเติบโต 15.01% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ NPL รวมอยู่ที่ 4.45% หรือคิดเป็นกว่า 2.52 แสนล้านบาท