สถิติ SET เดือน ธ.ค.ดี แนะลงทุนกลุ่มค้าปลีก

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการลงทุนในปีนี้ โดย 11 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ทิศทางการลงทุนผิดไปจากที่นักวิเคราะห์คาดจากช่วงต้นปี สาเหตุจากการริเริ่มนโยบายกีดกันการค้าโดย ประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้

และสำหรับการลงทุนเดือนธันวาคมนี้ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปีพบว่า ตลาดมักปรับตัวขึ้นเฉลี่ยราว 1.80% จากเดือน พ.ย. ซึ่ง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MKET ประเมินกรอบ SET index ในเดือนธันวาคม นี้ อยู่ที่บริเวณ 1,630-1,720 จุด

หากอิงจากสมมติฐานที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น มาประเมินส่วนต่างผลตอบแทนการลงทุนระหว่าง “ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร” (earning yield gap) อิงจากกำไรตลาด EPS (อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น) อยู่ที่ 18 ที่บริเวณ 108 เท่า พบว่า earning yield gap ที่ระดับบริเวณ 3.7% ใกล้เคียงระดับ 0.5 S.D. ย้อนหลัง 9 ปี จะได้แนวรับดัชนี SET บริเวณ 1,630 จุด ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมของเป้ากรอบการแกว่งตัวเดือนนี้ (เป็นระดับเดียวกันกับ base case ที่จะกล่าวในช่วงถัดไป) และหากนับตั้งแต่ปี 2014 พบว่า ส่วนมาก SET จะเกิด technical reboundบริเวณดังกล่าว

สำหรับสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา ระบุ ดัชนี SET มักปรับขึ้นในเดือน ธ.ค. และ “กลุ่มค้าปลีก” มัก outperform ก่อนการเลือกตั้ง : จากสถิติย้อนหลัง 7 ใน 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า SET มักปรับตัวขึ้นในเดือน ธ.ค. เฉลี่ยราว +1.8% จากเดือน พ.ย. โดยเฉพาะใน 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี นักลงทุนสถาบันจะซื้อเฉลี่ยสุทธิกว่า 6.2 พันล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายไม่มากเพียง 150 ล้านบาท และอีกสถิติที่น่าสนใจ คือ กลุ่มค้าปลีก มักจะเป็นกลุ่มที่ปรับขึ้นเด่นก่อนการเลือกตั้งเสมอ

โดยในปีนี้เราก็เชื่อว่า เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งสอดคล้องกับสถิติ สนับสนุนจากการที่ภาครัฐได้ปรับเพิ่มผลประโยชน์ใน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ทั้งในแง่จำนวนเงินที่มากขึ้น 2 เท่า เป็น 8.6 หมื่นล้านบาท และจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ที่เพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน

โดยบัตรดังกล่าวสามารถเข้าถึงและครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ล้วนเป็นปัจจัย 4 ทำให้ MKET มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น เช่น 1) ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้วยการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารจากร้านธงฟ้า และร้านค้าอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ในวงเงิน 200-300 บาท/เดือน 2) ค่าเดินทาง 500 บาท/เดือน 3) แก๊สหุงต้ม 45 บาท/ไตรมาส (วงเงิน 4.1 หมื่นล้านบาท/ปี) 4) กดเงินสดผ่าน ATM จำนวน 100-200 บาท/เดือน (ถึงเดือนธันวาคม)

และล่าสุด 5) อุดหนุนค่าไฟฟ้าและน้ำประปา วงเงินรวม 330 บาท/ครัวเรือน (ทั้งหมด 8.2 ล้านครัวเรือน) 6) สนับสนุนค่าใช้จ่ายเฉพาะในเดือนธันวาคม 500 บาท/เดือน 7) ช่วยเหลือค่าเดินทางไปโรงพยาบาล 1,000 บาท/คน (ครั้งเดียว) 8) ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/เดือน (ธ.ค. 61-ก.ย. 62) รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นสูงกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว ซึ่งเราประเมินว่าเงินดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นการบริโภคในประเภทสินค้าไม่คงทน ซึ่งสะท้อนการบริโภคส่วนมากของคนในประเทศ

ทาง MKET คาดกำไรไตรมาส 4/18 กลุ่มค้าปลีกจะเติบโต เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) และช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ฝนตกน้อยลง ทำให้ลูกค้าเข้าร้านเพิ่มขึ้น และมีการเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาด SSSG ของหุ้นกลุ่มค้าปลีกโดยรวมเป็นบวกเล็กน้อย นอกจากนั้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและช็อปช่วยชาติ คาดจะกระตุ้นการอุปโภคบริโภคให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!