ดีเดย์รายงานเบี้ย “โฉมใหม่” แยกประเภท-ช่องทาง

“สมาคมประกันชีวิตไทย” เปิดปีหมูทองได้ฤกษ์ปรับ”รายงานสถิติโฉมใหม่” แยกเบี้ยขายผ่าน 7 ช่องทาง-ประเภทชัด ขานรับ “บิ๊กดาต้า” หนุนดึงข้อมูลวิเคราะห์เร็ว เริ่มเก็บ ม.ค.62 นี้ ด้าน คปภ.คาดเบี้ยทั้งระบบปี”62 แตะ 9.04 แสนล้านบาท โต 4.9-5.9% ธุรกิจประกันชีวิตเบี้ยโต 5-6% ธุรกิจประกันวินาศภัยเบี้ยโต 4.7-5.7%

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่าขณะนี้สมาคมได้จัดทำรายงานสถิติธุรกิจประกันชีวิตรูปแบบใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยแยกตามช่องทางการขายครอบคลุมทุกช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางดิจิทัลที่แยกออกมาเพื่อวัดเบี้ยประกันได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงมีการจำแนกเบี้ยประกันชีวิตประเภทต่างๆ ออกมาให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนการตลาดของแต่ละบริษัทประกันได้ดีขึ้น

“เราทำรายงานสถิติใหม่ก็เพื่อต้องการวัดเบี้ยช่องทางดิจิทัลให้ชัด และผลักดันไม่ให้นับเบี้ยเท่ากัน พวกซิงเกิลพรีเมี่ยมที่เป็นชอร์ตเทอม ที่เรียกว่า single premium endowment ควรจะนับ 10% โดยไม่ควรนับ 100% ของเบี้ยปีแรก ซึ่งตอนนี้มีค่อนข้างน้อยแล้ว” นางนุสรากล่าว

นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าวว่า รายงานสถิติรูปแบบใหม่จะคล้ายกับรายงานสถิติของสำนักงาน คปภ. ที่แยกรายละเอียดเบี้ยประกันชีวิตแต่ละประเภทและแต่ละช่องทางจัดจำหน่าย ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 7 ช่องทางหลัก ดังนี้ 1.ตัวแทน 2.นายหน้า 3.แบงก์แอสชัวรันซ์ (ขายประกันผ่านธนาคาร) 4.ช่องทางไปรษณีย์ 5.โทรศัพท์ (เทเลเซลส์) 6.ดิจิทัล และ 7.ช่องทางอื่น ๆ อาทิ ลูกค้าติดต่อโดยตรงกับบริษัท (walk in) หรือผ่านองค์กร (worksite) เป็นต้น

“ถือเป็นรายงานสถิติที่ครอบคลุมช่องทางการตลาดทุกประเภท รวมทั้งรองรับช่องทางดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทได้มากขึ้น ทำให้ต่อไปจะเห็นเบี้ยประกันแต่ละด้านว่ามาจากช่องทางไหนได้ชัดเจน ซึ่งแต่ละบริษัทสมาชิกทั้ง 23 แห่งจะส่งข้อมูลตามรูปแบบรายงานนี้เป็นข้อมูลรายเดือน โดยกำหนดส่งทุกวันที่ 25 ของเดือนถัดไป ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพื่อความถูกต้อง สามารถส่งข้อมูลมาเพื่อแก้ไขภายหลังได้” นายพิชากล่าว

ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่สมาคมทำคือ แยกในส่วนของเบี้ยประกันประเภทต่าง ๆ ออกมาจากข้อมูลเบี้ยประกันรับปีแรก เบี้ยประกันรับปีต่อไป เบี้ยประกันแบบชำระครั้งเดียว เบี้ยประกันรับรวม โดยใส่รายละเอียดเพิ่มขึ้น อย่างเบี้ยประเภทสามัญจะแยกเป็นเบี้ยประกันสะสมทรัพย์, ตลอดชีพ ส่วนเบี้ยประเภทอุตสาหกรรมจะเพิ่มเบี้ยประกันไมโครอินชัวรันซ์ (ประกันภัยรายย่อย) เข้ามา เพราะที่ผ่านมา เบี้ยของโปรดักต์รายย่อยที่พัฒนาออกมาขาย จะถูกนับรวมไว้

เช่นเดียวกับเบี้ยประกันกลุ่มที่จะแยกชัดเจนเป็นแบบประกันกลุ่มสะสมทรัพย์, ชั่วระยะเวลา, คุ้มครองสินเชื่อ, อุบัติเหตุส่วนบุคคล, อุบัติเหตุสำหรับนักเรียน, ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงเบี้ยประกันบำนาญ เบี้ยประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์) และยูนิเวอร์แซลไลฟ์

นอกจากนี้ ยังมีเบี้ยประกันตะกาฟุล และสัญญาเพิ่มเติม (ไรเดอร์) อาทิ เบี้ยประกันอุบัติเหตุ สุขภาพและโรคร้ายแรงที่จะแยกให้เห็นชัดเจน โดยจะเริ่มเก็บสถิติตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 นี้เป็นต้นไป

“ก่อนหน้านี้เราจะเห็นแต่ภาพรวม แต่ต่อไปจะเห็นทันทีว่าแต่ละบริษัทมีช่องทางอะไรบ้าง และเบี้ยโตมาจากไหน และกรณีต้องการดูรายละเอียดสัญญาเพิ่มเติม แต่เดิมไม่สามารถบอกได้เลย แต่รายงานสถิติใหม่จะรู้เลยว่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ มาจากประกันกลุ่มหรือมาจากกรมธรรม์หลัก และโตมากน้อยแค่ไหน จากเดิมที่ต้องรอรายงานประจำปี ส่วนในแง่การวิเคราะห์ข้อมูลก็ทำได้หลากหลายขึ้น ถือว่าเป็นการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับยุคที่เรียกว่า บิ๊กดาต้า ที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้เร็วขึ้น” นายพิชากล่าว

ขณะที่สำนักงาน คปภ.คาดการณ์แนวโน้มเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งระบบช่วงปี”62 จะอยู่ประมาณ 904,550 ล้านบาท เติบโต 4.9-5.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นเบี้ยประกันชีวิตจำนวน 664,354 ล้านบาท เติบโต 5-6% และเบี้ยประกันวินาศภัยจำนวน 240,197 ล้านบาท เติบโต 4.7-5.7%

โดยมีปัจจัยสนับสนุนทางด้านการเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้าการผลิตและการลงทุนระหว่างประเทศ ที่จะส่งผลให้การส่งออกยังคงมีแนวโน้มขยายตัวดี และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนตามแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมทั้งแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีทิศทางเพิ่มมากขึ้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!