วัดใจรัฐบาลดัน “TFFIF” เฟส 2 ระดมอีก 5 หมื่นล.-ลุ้นแก้กม.ก่อนเลือกตั้ง

ชวินดา หาญรัตนกูล

“รัฐ-เอกชน” ลุ้นแก้กฎหมายค่าผ่านทางทันก่อนเลือกตั้งเปิดทางระดมทุน TFF เฟส 2 อีก 5 หมื่นล้านบาท ชี้ ครม.ไฟเขียวแก้กฎหมายแล้วอยู่ขั้นกฤษฎีกา พร้อมชงตั้ง “นิติบุคคลเฉพาะกิจ” บริหารจัดการรับ-จ่ายเงินค่าธรรมเนียมมอเตอร์เวย์สาย 7 สาย 9 ทุนประเดิม 1 แสนบาท

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการระดมทุนผ่านกองทุน TFFIF (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย) เฟส 2 ที่จะนำรายได้ของกรมทางหลวงในส่วนของมอเตอร์เวย์สาย 7 กับสาย 9 เข้ามาระดมทุนนั้น อาจจะดำเนินการไม่ทันก่อนมีการเลือกตั้ง เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องของทางกรมทางหลวง ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนถึงจะพร้อมเข้ากองทุนได้

อย่างไรก็ดี การคาดเดาเรื่องกรอบเวลาคงลำบาก ขึ้นกับความตั้งใจของรัฐบาล ว่าหากต้องการลดการที่รัฐต้องช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้รัฐวิสาหกิจก็ต้องเร่งผลักดัน เพราะเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามายังต้องดูว่าจะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไรต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจน

“ทรัพย์สินชิ้นแรกกว่าจะเข้ากองทุนได้ใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่า ส่วนทรัพย์สินใหม่ก็อาจจะทำได้เร็วกว่า แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะเร็วมาก เพราะกฎระเบียบที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นเรื่องสำคัญ โดยธรรมชาติจะกินเวลานาน นอกจากนี้ การตัดสินใจในอนาคตยังจะต้องพึ่งภาครัฐ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎ หรือการจัดตั้งกองอะไรต่าง ๆ จะต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง” นางชวินดากล่าว

รายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขยายวัตถุประสงค์และแหล่งรายรับของเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางของกรมทางหลวง เพื่อให้ครอบคลุมกรณีการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย และเงินค่าตอบแทนจากผู้ที่ชนะประมูลบริหารจัดการที่พักริมทาง หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในเขตทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่มีการคิดค่าธรรมเนียมผ่านทาง

ทั้งนี้ โครงสร้างการระดมทุนผ่านมอเตอร์เวย์สาย 7 และ สาย 9 นั้น กำหนดไว้ 2 ส่วน คือ 1) กระแสเงินไปยังกองทุนรวม TFFIF จะมาจากการที่กรมทางหลวงจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และนำส่งรายได้ส่วนที่จะระดมทุนผ่านกองทุนรวม TFFIF ให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อระดมทุนผ่านกองทุนรวม TFFIF ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งเงินค่าธรรมเนียมให้แก่กองทุนรวม TFFIF ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมส่วนที่เหลือ ซึ่งไม่ได้นำส่งให้นิติบุคคลเฉพาะกิจ กรมทางหลวงจะนำส่งเข้าบัญชีเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ตามร่างพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เป็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิมต่อไป

และ 2) กระแสเงินจากกองทุนรวม TFFIF ไปยังกรมทางหลวง ก็จะเป็นการที่กองทุนรวม TFFIF นำส่งเงินที่ได้จากการระดมทุนให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อจัดส่งไปที่บัญชีเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง และใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของกรมทางหลวงต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งและกำกับการดำเนินงานของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 100,000 บาท ขึ้นมาทำหน้าที่ตัวกลางนำส่งเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางดังกล่าว เพื่อแยกออกจากการบริหารของกรมทางหลวง จะได้ไม่เกิดปัญหาในการลงนามในสัญญา RTA (สัญญาโอนและรับสิทธิโอนรายได้)

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การแก้กฎหมายได้เสนอผ่าน ครม.ไปแล้ว ปัจจุบันเรื่องอยู่ที่กฤษฎีกา ซึ่งการจะขายหน่วยลงทุนลอตใหม่ต้องรอกฎหมายผ่านก่อน

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะโฆษก สคร. กล่าวว่า ทางกรมทางหลวงได้เสนอแก้ไขกฎหมายไปแล้ว หากสามารถผ่านได้ก่อนมีการเลือกตั้ง กระบวนการอื่น ๆ ก็เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ เบื้องต้นความต้องการระดมทุนในเฟสนี้อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องสรุปตัวเลขที่ชัดเจนอีกที

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!