กองทุนบัวหลวง เปิดแผนลงทุนปี’62 เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-โลจิสติกส์ ตั้งเป้า AUM โต 12.3%

บลจ.บัวหลวง เปิดแผนลงทุนปี 2562 เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-โลจิสติกส์ หลังได้รับประโยชน์จากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ การเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ และการขยายตัวของเมือง

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า ในทุกๆ ปี กองทุนบัวหลวงจะกำหนดธีมการลงทุนเพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ลงทุนให้ได้รับทราบถึงแนวคิด โอกาส และความเสี่ยงที่จะมีผลต่อการลงทุนในอนาคต สำหรับธีมการลงทุนในปี 2562 คือ “รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์” (Logistics and Infrastructure Solutions) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธีมการลงทุน “ตลอดสายซัพพลายเชน ตามเทรนด์อี-คอมเมิร์ซ และยานยนต์ไฟฟ้า” ของปี 2561

สำหรับปี 2562 กองทุนบัวหลวงมองว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์เด่นชัดนับจากนี้ไป คือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ ประการแรก ประเทศไทยกำลังก้าวสู่วัฏจักรการลงทุนครั้งใหญ่ ทั้งแผนการลงทุนระบบราง ระบบถนน และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเป็นโครงสร้างขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ก็เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน ประเทศไทยเองจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรักษาความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่ดี ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

นอกจากนี้ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนที่มีต่อภูมิภาคอาเซียน ก็เป็นแรงผลักดันที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของประเทศ ขณะเดียวกัน ระบบคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้น ไม่เพียงจะก่อให้เกิดโอกาสอันดีกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์และการขนส่งต่างๆ แต่ยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบเดิม และช่วยดึงซัพพลายเชนใหม่จากต่างชาติให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ประการที่ 2 คือ การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในไทย ด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน จากการที่คนในทุกช่วงวัยนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มูลค่าตลาดและฐานจำนวนผู้ซื้อขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าฐานลูกค้ากลุ่มนี้ยังกระจุกตัวในเขตเมืองเป็นหลัก แต่การที่ผู้ประกอบการของไทยที่ดำเนินธุรกิจซื้อขายกับผู้บริโภค (B2C: Business to Customer) เริ่มหันมาทำตลาดระบบนี้กันมากขึ้น จะส่งผลให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยจะกลายเป็นตลาดคู่ขนานไปกับการขายแบบหน้าร้านในอนาคตอันใกล้นี้

Advertisment

ด้วยเหตุนี้ ระบบการจัดส่งสินค้าในปัจจุบัน จึงไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ ซึ่งจะเห็นได้จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการขนส่ง เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตได้อีกมากนับจากนี้ไป ดังนั้น การพัฒนาระบบขนส่งสินค้าให้รวดเร็ว ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดต้นทุนในการจัดส่ง ทั้งยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมถึงในชนบท สามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

ประการที่ 3 คือ การขยายตัวเพิ่มขึ้นของเมือง จึงจำเป็นต้องมีระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพรองรับ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรมาก เฉลี่ยสูงถึง 10,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ตลอดจนจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากผู้อยู่อาศัย ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นเมืองที่รถติดอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น การขยายโครงข่ายการเดินทางมวลชนต่อจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าบนดิน รถไฟฟ้าใต้ดิน และทางด่วน ที่กำลังทยอยก่อสร้าง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และกระจายความเจริญออกไปนอกเมืองได้มากขึ้น ธุรกิจให้บริการขนส่งสาธารณะก็จะมีขอบเขตในการให้บริการและฐานผู้ใช้ที่มากขึ้น รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ โลจิสติกส์ โฆษณา หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็จะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วย

“ต้นทุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง นับเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อจีดีพีลงมาโดยตลอด แต่ทว่า การพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นไปในรูปแบบถนน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ที่ใช้ระบบรางในการขนส่งเป็นหลัก พบว่า มีต้นทุนขนส่งต่อจีดีพีต่ำกว่าเรามาก ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะเป็นตัวปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ในการประกอบกิจการ การพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท โดยกองทุนบัวหลวงมองว่าธุรกิจที่สามารถปรับตัวและนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ จะสามารถเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนได้” นายพีรพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 บลจ.บัวหลวง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ราว 8.78 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้า AUM ปี 2562 เติบโต 12.3% หรือเติบโต 9.85 แสนล้านบาท จากการตั้งเป้ากองทุนรวม (Mutual Fund) เติบโต 5.5 หมื่นล้านบาท โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และรีท (REIT) เติบโต 3.7 หมื่นล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เติบโต 9 พันล้านบาท และกองทุนอื่นๆ อีกราว 4 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทมีแผนออกกองทุน LTF กองใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง มูลค่าราว 5,000 – 10,000 ล้านบาท

Advertisment