รวม 2 แบงก์ส่อจบหลังเลือกตั้ง ตบเท้าพบขุนคลังถกหลายประเด็นไม่ลง

คลังแจงดีลควบรวม 2 แบงก์ “TMB-ธนชาต” ส่อลากยาวหลังเลือกตั้ง ธปท.ห่วง “หนี้เสีย” สินเชื่อรถยนต์พุ่ง เผยไตรมาสแรก ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจมาตรฐานปล่อยกู้ ส่วน NPL “สินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต” ดีขึ้น 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีลควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) กับธนาคารธนชาตนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายได้เข้าหารือร่วมกับ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังแล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องเจรจาต่อ และต้องทำการตรวจสอบฐานะ (ดิวดิลิเจนซ์) ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นอาจจะมีเซ็นสัญญาทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) กันไว้ในช่วงก่อนเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นการผูกมัดว่าดีลจะต้องสำเร็จ ส่วนกระบวนการเจรจา คงยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ไม่น่าจะทันก่อนเลือกตั้ง

“ทั้ง 2 แบงก์ยังไม่ได้ไปเคลียร์เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรเลยว่า จะขอใช้สิทธิอะไรบ้าง เพราะแต่ละฝ่ายต้องดูความคุ้มค่าด้านภาษีด้วย ก่อนจะตกลงกันว่าจะลงเงินกันเท่าไหร่ โดยทางคลังก็ไม่อยากใส่เงินมาก ต้องดูให้คุ้มค่า และตอบสังคมได้” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 และ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา TMB ได้จัดประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยพิจารณาเรื่องการเจรจาดีลควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) โดยผลการประชุมของบอร์ดต่อเรื่องนี้ยังไม่จบ

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในกรณีการควบรวมของ 2 แบงก์ข้างต้น ก็ต้องให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดูเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีการควบรวมกันก็จะทำให้แบงก์มีความแข็งแกร่งขึ้นส่วนแนวทางดำเนินงานด้านสถาบันการเงินของ ธปท. นายสมชายกล่าวว่า ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ธปท.จะเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน หลังจากเห็นแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ค่อนข้างมากในปี 2561 ที่ผ่านมา

“ปีนี้เริ่มเป็นปีแรกในการเข้าตรวจสินเชื่อรถยนต์ ก็คงคล้าย ๆ กับที่เคยเข้าไปตรวจการปล่อยสินเชื่อบ้าน โดยตอนนี้ก็เริ่มคุยกับซีอีโอแล้ว หลังจากนั้นก็จะตรวจตลอดทั้งปี ส่วนการออกมาตรการ (ดูแลการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว) ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปไปถึงขั้นนั้นได้ เพราะไปตรวจแล้วอาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้” นายสมชายกล่าว

สำหรับสถานการณ์ NPL โดยรวมของแบงก์ทั้งระบบในปี 2561 เริ่มทรงตัว เนื่องจากสัดส่วน NPL เริ่มนิ่งอยู่ที่ 2.93% ใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ แต่สินเชื่อธุรกิจ SMEs ยังมีการเพิ่มของ NPL สูงอยู่ที่ 4.46% จากปีก่อน 4.37% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคทรงตัว 2.66% แต่สินเชื่อรถยนต์ขยับขึ้นเป็น 1.66% จากปี 2560 เนื่องจากการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ขณะสินเชื่อบ้านยังมี NPL สูงอยู่ที่ 3.25% ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

“ส่วน NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แนวโน้มปรับดีขึ้นเล็กน้อย น่าจะได้อานิสงส์จากมาตรการที่ออกไปเมื่อเดือน ก.ย. 2560 ที่มีการจำกัดเรื่องวงเงินกู้ยืม” นายสมชายกล่าว

สำหรับ NPL ของ SMEs ที่ยังเพิ่มนั้น พบว่ามีหลายธุรกิจในเซ็กเตอร์อุตสาหกรรม พาณิชย์ และก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ และรูปแบบธุรกิจที่แข่งขันได้ยาก

อย่างไรก็ดี ยอด NPL ในภาพรวมก็มีแนวโน้มชะลอ โดยยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 443,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 14,400 ล้านบาท เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วขยายตัว 3.3% ซึ่งเป็นปีแรกที่การขยายตัวของ NPL ในส่วนเพิ่มเป็นเลขหลักเดียว จากที่เคยขยายตัว 2 หลักมาตลอดตั้งแต่ปี 2558-2560 ดังนั้น สินเชื่อที่กลายเป็น NPL เริ่มนิ่งและชะลอแล้ว เช่นเดียวกับหนี้ที่ปรับโครงสร้างแล้วกลับเป็น NPL สัดส่วนก็ลดลง

นายสมชายกล่าวว่า ปี 2561 แบงก์มีการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งในส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 9.4% โดยหลัก ๆ มาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีการเร่งโอนก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ สินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มตามยอดขายหลังสิ้นสุดมาตรการรถคันแรก และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังขยายตัว ขณะที่กำไรสุทธิรวมในปี 2561 อยู่ที่ 2.072 แสนล้านบาท ขยายตัว 10.8% ตามสินเชื่อที่ขยายตัว และค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะชะลอตัว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!