NPL นาโนไฟแนนซ์พุ่ง 200% ธปท.-กรุงศรีส่องลูกหนี้เสียชี้เทรนด์เพิ่ม

หนี้เสีย “นาโนไฟแนนซ์” วิ่งกระฉูด 200% สิ้นไตรมาสที่ 2 มูลค่าสูง 110 ล้านบาท ธปท.ระบุผู้ประกอบการบางรายทดลองตลาด พร้อมสอดส่องกลุ่มที่มีปัญหา เครือกรุงศรีฯ ยอมรับสัญญาณหนี้เสียโตต่อเนื่อง เร่งแก้ปัญหา ชู “คืนดอกเบี้ย” ให้ลูกหนี้ดี บิ๊กเมืองไทยลิสซิ่ง ตั้งเป้าสินเชื่อโต 50% ชี้ส้มหล่น ลูกค้าวิ่งเข้าหา หลัง ธปท.คุมก่อหนี้บัตรเครดิต-พีโลน

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้กำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีจำนวนบัญชีสะสม 112,571 บัญชี เพิ่มขึ้น 32,255 บัญชี หรือ 40% จากไตรมาสที่ 1/2560 ส่วนสินเชื่อสะสมอยู่ที่ 3,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 937 ล้านบาท หรือ 43.7% ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท หรือโต 197% เทียบจากไตรมาสแรกที่มีหนี้เสียสะสมเพียง 37 ล้านบาทเท่านั้น

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.หรือแบงก์ชาติ กล่าวว่า หนี้เสียในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมาอยุ่ในระดับสูง น่าจะเกิดขึ้นจากช่วงทดลองตลาดในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อในบางจุดบางพื้นที่ ซึ่งต้องยอมรับก่อนว่า การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการก็ยังยื่นมือเข้าไปช่วยกลุ่มลูกค้านี้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือภายใต้ความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ได้มีวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างไร

รณดล นุ่มนนท์

“เป็นการทดลองปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการบางรายที่กำลังลองบิสซิเนสโมเดล ดังนั้นก็ไม่ใช่ทุกรายที่จะมีหนี้เสีย สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือหนี้เสียที่เกิดขึ้นมาจากการปล่อยสินเชื่อในส่วนไหน กลุ่มไหน รายได้เป็นอย่างไร ก็ต้องมาดูกันอีกที” นายรณดลกล่าว

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า บริษัทปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ภายใต้ชื่อ “สินเชื่อเถ้าแก่ทันใจ” ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ สิ้น ก.ค. 2560 มีลูกค้าจำนวน 1,250 ราย และมียอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 48 ล้านบาท ส่วนยอดผิดนัดชำระหนี้มากกว่า 60 วัน (2 เดือน) อยู่ที่ 6-7% ของสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง และยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

ดังนั้น บริษัทจึงต้องมาเน้นการควบคุมและดูแลความเสี่ยงมากขึ้นผ่านกระบวนการพิจารณาอนุมัติที่ค่อนข้างละเอียด ซึ่งปัจจุบันมีอัตราอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 40% และการปล่อยสินเชื่อแบบค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการศึกษาและเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น

“การลดหนี้เสียในระยะต่อไป บริษัทจะทำโมเดลเพื่อปรับพฤติกรรมการชำระค่างวดลูกค้า ถ้าลูกค้ามีวินัยดี เราจะคืนเงิน 10% ของยอดดอกเบี้ย ถ้าชำระตรงเป็นเวลา 6 เดือน” นางสาวณญาณีกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทเข้าไปปล่อยสินเชื่อเถ้าแก่ทันใจในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และชลบุรี เท่านั้น และอยู่ระหว่างทดลองขยายพื้นที่บริการลูกค้าทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และสงขลา เพิ่มขึ้น

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมียอดปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์ประมาณ 760 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดของกลุ่มนาโนไฟแนนซ์ โดยมีจำนวนลูกค้าแล้วกว่า 3.5 หมื่นราย ส่วนตัวเลขหนี้เสียมีสัดส่วนต่ำเพียง 0.7% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทเน้นปล่อยกู้เฉพาะลูกค้าเดิมที่มีประวัติดีเท่านั้น

สำหรับในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เติบโต 50% จากปี 2559 เนื่องจากผลจากการออกมาตรการคุมเข้มเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ผ่านการจำกัดวงเงินและจำนวนบัตร ซึ่งจะมีกลุ่มคนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ หลังจากนี้บริษัทจะรุกกลุ่มลูกค้ากลุ่มบัตรเครดิตและพีโลนเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีประวัติและเช็กเครดิตบูโรได้อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ได้ และเป็นโอกาสของสินเชื่อตลาดนี้ยังเติบโตได้

อย่างไรก็ตาม สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน จึงมีความเสี่ยงสูง ทำให้ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์หลายรายทำธุรกิจนี้ไม่ไหว และบางรายมีหนี้เสียสูงเกือบ 10% จนต้องขอคืนใบอนุญาต (ไลเซนส์) นาโนไฟแนนซ์