ก.ล.ต.ชี้แจงเหตุประกาศการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3 บริษัท

ก.ล.ต.ชี้แจงเหตุประกาศการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่ม บ.อินโดรามา – บ.น้ำมันอพอลโล (ไทย) – บมจ.ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย เพื่อโอนย้ายไปยังกองทุนร่วมหลายนโยบายการลงทุนที่เสนอทางเลือกการออมให้ลูกจ้างได้มากขึ้นกว่าเดิม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้แจงประกาศการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) จำนวนทั้งหมด 3 กองทุน จากนายจ้างจำนวน 3 ราย โดยเป็นการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อโอนย้ายไปยังกองทุนร่วมหลายนโยบายการลงทุน (Master Pooled Fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนายจ้างมากกว่าหนึ่งราย และมีนโยบายการลงทุนมากกว่าหนึ่งนโยบาย จากเดิมที่ทั้ง 3 กองฯ มีลักษณะเป็นกองทุนแบบกองทุนเดี่ยว (Single Fund) ที่มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว โดยการโอนย้ายดังกล่าวเป็นไปตามความประสงค์ของนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างสมาชิก PVD มีทางเลือกมากขึ้น สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกองทุน

ทั้งนี้ การออกประกาศเลิกกองฯ (รวมถึงการจัดตั้งกองฯ ใหม่) เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.ในฐานะนายทะเบียน PVD ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จะรวบรวมและนำมาประกาศปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ กลางปี และสิ้นปี ซึ่งจะมีการส่งประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษาตามปกติเช่นกัน

หมายเหตุ : PVD คือ กองทุนภาคสมัครใจที่มีเป้าหมายการออมระยะยาวเพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันตั้งขึ้น เป็นเงินออมที่จะมาจากส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี

* จำนวนนายจ้าง สมาชิก และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
จากข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ ธ.ค.61

Advertisment

– จำนวนนายจ้าง 18,358 แห่ง เพิ่มขึ้น 811 แห่ง หรือ 4.62% จากปี 60

– สมาชิก 3,052,619 คน เพิ่มขึ้น 93,938 คน หรือ 3.17% จากปี 60

– มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,128,848 บาท เพิ่มขึ้น 46,229 ล้านบาท หรือ 4.27% จากปี 60

– กองทุน 382 กอง ลดลง 13 กอง หรือ 3.29% จากปี 60 (เนื่องจากนายจ้างยกเลิกกอง Single Fund เพื่อโอนย้ายไปเข้า Master Pooled Fund)

Advertisment