ขุนคลังหวั่นภาษีเงินฝากป่วน แก้ประกาศสรรพากรอุ้ม80ล้านบัญชี

โฆษกกรมสรรพากร เผยเตรียมออกประกาศฉบับใหม่ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ความยินยอมแก่สถาบันการเงินในการรายงานข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ต่อกรมสรรพากร
ขุนคลังทุบโต๊ะแก้ประกาศสรรพากร ปมผู้ฝากรายย่อยโวยรัฐสร้างความปั่นป่วนให้รายงานดอกเบี้ย หันใช้วิธีปฏิบัติ “กลับข้าง” ใครไม่ยินยอมให้ส่งข้อมูล “ต้องแสดงตน” สรรพากรนัดถกสมาคมแบงก์อีกรอบ 25 เม.ย. ก่อนชงอธิบดีออกประกาศใหม่เร็วสุดปลายสัปดาห์นี้ ด้าน “โทนี่” ยันไม่กระทบลูกค้าแบงก์กรุงเทพ

นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมจะออกประกาศฉบับใหม่ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ความยินยอมแก่สถาบันการเงินในการรายงานข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ต่อกรมสรรพากร โดยจะยึดหลักให้ผู้ที่ไม่ให้ความยินยอมให้ส่งข้อมูลจะต้องไปแสดงตน (ลงนาม) ส่วนผู้ที่ไม่ได้แสดงตน ถือว่าให้ความยินยอมทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบลูกค้าเงินฝากรายย่อยทั่วไป ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ไม่เกิน 20,000 บาท/ปี ซึ่งมีสัดส่วนถึง 99% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กว่า 80 ล้านบัญชี

โดยการออกประกาศฉบับใหม่ จะมีวิธีแสดงความยินยอมที่มีความยืดหยุ่น และน่าจะออกได้ภายในปลายสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าต้นสัปดาห์หน้า

“ต้องคิดกลับข้างกัน เพื่อไม่ให้คนส่วนใหญ่เดือดร้อน ซึ่งประกาศฉบับใหม่จะแยกชัดเจนระหว่างการแสดงความยินยอมส่งข้อมูล กับการเสียภาษี เพราะหากมาแสดงตัวว่าไม่ต้องการให้ส่งข้อมูล แต่ถ้าได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีตามปกติ ทั้งนี้ หลังจากกรมประชุมกับสมาคมธนาคารไทยไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. จากนี้กรมจะแก้ไขประกาศ แล้วจะประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 25 เม.ย. ก่อนจะเสนออธิบดีลงนามออกประกาศ” นายปิ่นสายกล่าว

นอกจากนี้ โฆษกกรมสรรพากรยืนยันว่า การดำเนินการตามมาตรการนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปดูข้อมูลธุรกรรมทุกบัญชีเงินฝากเพื่อนำมาใช้เก็บภาษีอย่างที่มีการเข้าใจกัน เพราะการมีแค่ข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่ได้มีนัยมาก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แบงก์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ธนาคารมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กว่า 10 ล้านบัญชี มูลค่าราว 1 ล้านล้านบาท จากเงินฝากทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท โดยที่ผ่านมามีลูกค้าสอบถามเรื่องดังกล่าวเข้ามาบ้าง แต่เนื่องจากทางแบงก์ดำเนินการตามกฎเกณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่ได้มีปัญหาหรือผลกระทบอะไรเกิดขึ้น โดยหลังจากนี้ เมื่อสมาคมธนาคารไทยหารือกันจนมีขั้นตอนปฏิบัติที่แน่ชัดแล้ว แบงก์ก็จะแจ้งให้ลูกค้าทราบต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เห็นชอบให้กรมสรรพากรแก้ไขประกาศ เนื่องจากไม่ต้องการให้สร้างผลกระทบแก่ลูกค้าเงินฝากรายย่อย เพราะจริง ๆ แล้ว คลังมีนโยบายต้องการดัดหลังแบงก์ที่รู้เห็นเป็นใจให้ลูกค้าเลี่ยงภาษีเป็นหลัก

นางสาวชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แนวทางตามที่จะมีการแก้ประกาศใหม่ จะกระทบกับผู้ฝากเงินน้อยลง โดยมีเพียงประมาณ 3 ล้านรายเท่านั้น ที่หากไม่ยินยอมต้องมาลงนามแสดงตนกับแบงก์ จากเดิมที่มีผลกระทบกว่า 80 ล้านบัญชี (30 ล้านราย) อย่างไรก็ดี ในการประชุมวันที่ 25 เม.ย.นี้ หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมด้วย ก็น่าจะได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินการได้ทันที

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!