เส้นทางโต “Banking Agent” Win-Win ทั้งแบงก์-ตัวแทน-ลูกค้า

แม้ทุกวันนี้กระแสให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนอีกไม่น้อยที่ยังต้องการใช้บริการผ่านหน้าร้านหรือสาขาแบงก์อยู่โดยเฉพาะคนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้หลายธนาคารพาเหรดกันมาเปิด banking agent หรือตัวแทนของธนาคารเพื่อเพิ่มช่องทางให้บริการทางการเงินครอบคลุมทั่วพื้นที่ในไทย

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ สิ้นปี”61 ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) มีการแต่งตั้งตัวแทนเป็น banking agent เพื่อให้บริการทำ 2 ธุรกรรมหลัก ได้แก่ 1.ตัวแทนรับฝากเงิน ซึ่งได้แต่งตั้งตัวแทนด้านนี้ 5 ราย ได้แก่ บจ.ไปรษณีย์ไทย ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย เคาน์เตอร์ CenPay ใน FamilyMart และเคาน์เตอร์ Cafe Amazon ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และ 2.ตัวแทนรับชำระเงิน (โอนเงิน) ที่มีการแต่งตั้งตัวแทนให้บริการ 13 ราย อาทิ บจ.ไปรษณีย์ไทย Tesco Lotus/Big C/Counter Service/CenPay/กลุ่ม AIS กลุ่ม True/The Mall Group เป็นต้น

ขณะที่เคาน์เตอร์ที่ฮอตสุด คือ ร้านสะดวกซื้อ 7/11 ที่มีสาขากว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐที่เข้ามาแต่งตั้งให้เป็น “แบงกิ้งเอเย่นต์” นำโดยธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และเร็ว ๆ นี้ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยก็มีแผนปรับเปลี่ยนเช่นกัน

โดย “อดิศร เสริมชัยวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า เทรนด์แบงก์หันมาทำแบงกิ้งเอเย่นต์ กันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบางครั้งการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งก็จะมีข้อจำกัดอยู่ เช่น ลูกค้าบางกลุ่มไม่คุ้นเคยกับการใช้โมบายแบงกิ้ง ปัญหาจุดอับสัญญาณที่กระทบต่อการทำธุรกรรมบนมือถือในช่วงเร่งด่วน ฯลฯ ดังนั้น การมีจุดให้บริการที่สะดวกรวดเร็วหาง่ายจึงเป็นอีกช่องทางที่ช่วยแบงก์ได้ในภาวะที่สาขาเริ่มลดลง

ในส่วนของ CIMBT ก็มีแนวโน้มจะปรับ “สาขาย่อย” ในร้านสะดวกซื้อ 7/11 ที่เปิดมาราว 2 ปีแล้ว ได้แก่ สาขาย่อยสีตบุตร กรุงเทพฯ และสาขาย่อยถนนศุขประยูร ชลบุรี เปลี่ยนมาเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์แทน ซึ่งจะหนุนต้นทุนของธนาคารลดลงอีก เนื่องจากไม่ต้องมีการตั้งตู้ทำรายการ วางระบบ หรือมีพนักงานคอยให้บริการเช่นในปัจจุบัน (นอกจากนี้ CIMBT มีสาขาย่อยราชพฤกษ์ในซูเปอร์มาร์เก็ต SPAR ด้วย)

Advertisment

“ขณะนี้กำลังหารือจะทำแบงกิ้งเอเย่นต์อยู่ ซึ่งจะต้องดูทั้งเรื่องจำนวนธุรกรรม การวางระบบ และจุดบริการที่จะเปิด เรามองว่าอาจจะนำร่องที่ฝากถอนเงินก่อน ถ้าย้อนกลับไปตอนที่มาตั้งสาขาย่อยใน 7-11 ก็เพราะต้นทุนถูกกว่าสาขาเต็มรูปแบบ และพอมีช่องทางที่ทำให้ต้นทุนถูกลงไปอีกอย่างการทำธุรกรรมนี้ผ่าน 7-11 ได้ก็ยิ่งดี แต่ยังไม่ชัดเจนจะเปิดเมื่อไหร่” นายอดิศรกล่าว

มาที่ “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ SCB ได้แต่งตั้ง “ร้านสะดวกซื้อ 7-11” เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์เมื่อปลายมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถให้บริการ “ฝาก-ถอน” เงินสดบัญชีผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่ร้าน 7-11 ทั่วประเทศ

โดย SCB มองเห็นข้อจำกัดของกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการทำธุรกรรมเงินสดโดยเฉพาะการ “ฝาก-ถอน” ช่วงหลังเวลาทำการปกติอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขายในตลาดนัดที่มีความเสี่ยงถือเงินสดจำนวนไม่น้อยกลับบ้านทุกวัน จึงเลือก 7-11 ที่เปิด 24 ชม.มาตอบโจทย์ลูกค้า

ที่สำคัญ SCB ชูไฮไลต์ของการให้บริการฝาก-ถอนเงินสดบัญชีเงินฝากแบบดิจิทัลด้วย “QR code” ถือเป็นรายแรก ซึ่งสามารถทำผ่านแอปพลิเคชั่น SCB EASY ไม่ต้องจำเลขบัญชีผู้รับฝาก และไม่ต้องกรอกเอกสารให้วุ่นวาย โดย SCB คาดว่าบริการนี้จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า และคาดจะเห็นยอดการทำธุรกรรมเฉลี่ยประมาณ 1 แสนรายต่อเดือน และในอนาคตจะขยายสู่บริการทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคต เช่น การโอนเงินแบบไม่มีบัญชีปลายทาง การรับโอนเงินต่างประเทศ การเปิดบัญชี และบริการด้านสินเชื่อที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

Advertisment

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์กำหนดวงเงินในการทำรายการบริการฝากเงินสดอยู่ที่ 1-30,000 บาท/รายการ และสูงสุด 100,000 บาท/วัน/บัญชี ในขณะที่บริการถอนเงินสดอยู่ที่ 100-5,000 บาท/รายการ สูงสุด 20,000 บาท/วัน/ราย ส่วนค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การทำรายการอยู่ที่ 15 บาท/รายการ

ส่วนฝั่งแบงก์ใหญ่สีเขียว “ธนาคารกสิกรไทย” ปัจจุบันมีแบงกิ้งเอเย่นต์ แล้ว 5 ราย ซึ่งจะให้บริการรับฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยแบบเรียลไทม์ ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย ร้านกาแฟอินทนิล และร้านสะดวกซื้อสพาร์ ร้านคาเฟ่ อเมซอน แฟมิลี่มาร์ท และล่าสุด “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ซึ่งบางรายเปิดให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วไทย และบางรายอยู่ในช่วงทดลองก่อนที่จะขยายสาขา/พื้นที่ในการให้บริการ และตั้งแต่ที่ KBank Service เปิดให้บริการจนถึงสิ้น ธ.ค. 61 มีจำนวนธุรกรรมผ่าน banking agent รวมประมาณ 2 แสนรายการ

ฝั่งไปรษณีย์ไทย ได้เป็นตัวแทนให้ธนาคาร 10 แห่ง “รับฝาก-โอนเงิน” ซึ่งยอดทำธุรกรรมเติบโตตลอด ใน 3 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าอยู่ที่กว่า 1.9 พันล้านบาท จำนวนรวม 7.8 แสนรายการ และในไตรมาส 2 ก็จะเพิ่มบริการ “ถอนเงิน” ได้ ส่วนรายได้จากส่วนแบ่งค่าฟีตามแต่ตกลง ซึ่งบางธนาคารยอมแบกค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าใช้ฟรี

แนวโน้มค่าฟีก็อาจถูกลงได้ เพราะภาวะการแข่งขันของแบงก์ ล่าสุดหลายแบงก์มีทำโปรโมชั่นลดค่าฟี เหลือ 5 บาทต่อธุรกรรมถึงสิ้น 30 เม.ย.นี้กัน

ดังนั้น เส้นทางแบงกิ้งเอเย่นต์ ยังเติบโตต่อเนื่อง และจะมีพันธมิตรต่าง ๆ เข้ามา เพื่อเป็นช่องทางขยายจุดให้บริการรองรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ที่มีกระจายทั่วประเทศ ส่วนแบงกิ้งเอเยนต์รายเก่าที่ให้บริการแค่ “รับเงินฝาก” อย่างเดียว ต่อไปก็มีโอกาสที่จะเพิ่มบริการอื่นเช่นกัน

ถือเป็นอีกกลยุทธ์ win-win กับฝั่งแบงก์และเหล่าพันธมิตร