“อานนท์” นายก ส.ประกันยุคอินชัวร์เทค ลุยปั้นอินชัวรันซ์บูโร-ควบรวมประกันค่ายเล็ก

สัมภาษณ์

กลายเป็น “บิ๊กประกันภัย” ที่สวมหมวกถึง 5 ใบ หลัง “อานนท์ วังวสุ” ได้คัมแบ็กมานั่งเก้าอี้นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยอีกสมัย จากที่มีหมวกประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย ประธานกรรมการบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ประธานกรรมการบริษัทไทยอินชัวเรอร์ดาต้าเนท และประธานกรรมการสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัยอยู่แล้ว ซึ่งได้สัมภาษณ์ถึงนโยบายการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยในระยะข้างหน้า

ลดอุบัติเหตุปีละ 10%

โดย “อานนท์” เริ่มด้วยการย้ำจุดยืนในการนำธุรกิจประกันภัยไปช่วยบริหารความเสี่ยงประเทศ ซึ่งหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน เม.ย. 2562 ก็เริ่มเตรียมโปรเจ็กต์พิเศษที่จะทำในปีนี้ นั่นคือการรณรงค์อุบัติเหตุทางถนน เพื่อลดคนเจ็บและคนตาย แม้ล่าสุด องค์การอนามัยโลกจะจัดอันดับคนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงจากอันดับ 2 เป็นอันดับ 9 ของโลก แต่ต้องถือว่า ยอดผู้เสียชีวิตยังสูง เฉลี่ยแล้ว 2 หมื่นคนต่อปี โดย 78% เป็นผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ครองแชมป์โลก ในจำนวนนี้40% ไม่สวมหมวกกันน็อก

“ปีนี้ตั้งใจอยากลดอัตราคนเจ็บและคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนลง 10% โดยกำลังวางแผนปฏิบัติงานชวนหน่วยงานรัฐมาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสมาคมยินดีสนับสนุนข้อมูลจุดเกิดเหตุและงบประมาณบางส่วน เพื่อลงพื้นที่สำรวจคนเกิดอุบัติเหตุมากตรงจุดไหนบ้าง สาเหตุอะไรสูงที่สุด เพื่อแก้ไขออกมาอย่างเป็นรูปธรรม”

“อานนท์” บอกว่า ปัจจุบันบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแบบเรียลไทม์ไว้บนเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ “Thai RSC”

ซึ่งปีนี้สมาคมและบริษัทกลางฯจะเชิญเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มานั่งเป็นประธานคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อลดอัตราผู้เสียชีวิตให้ต่ำกว่า 2 หมื่นคนต่อปีให้ได้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วน่ากลัวมาก ผมว่าถ้าเราเริ่มจากจุดเล็ก ๆ สักวันมันต้องดี โดยเรามีข้อมูลครบถ้วนอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องนำมาใช้และวัดผลจริงจังสักที”

เดินหน้า “อินชัวรันซ์บูโร”

“อานนท์” กล่าวอีกว่า ปีนี้น่าจะเดินหน้า “อินชัวรันซ์บูโร” (IBS) ได้อย่างไม่ต้องกังวลผลกระทบเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลนัก เนื่องจากกฎหมายระบุชัดว่า หากภาคธุรกิจนำข้อมูลไปใช้ในกรอบที่แจ้งไว้กับลูกค้า ก็สามารถทำได้ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือ คปภ.ให้ส่งข้อมูลบางส่วนกลับมายังสมาคมที่จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูข้อมูล โดยบางเรื่องอาจทำได้เลย บางเรื่องก็ยัง sensi-tive (อ่อนไหว) อย่างกรณีข้อมูลฉ้อฉลประกันภัย ที่ต้องมีกฎระเบียบออกมากำกับพิเศษ อย่างไรก็ดี หากได้ข้อมูลสัก 30% ก็จะสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ก่อน ซึ่งจะทำให้เห็นต้นทุนทางธุรกิจชัดเจนขึ้น ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นเบี้ยประกันทุกกลุ่มและทุกคน

“ต่อไปจะมีความหลากหลายของอัตราเบี้ยประกันในการรับประกันประเภทเดียวกัน ใครความเสี่ยงมากก็จ่ายเบี้ยแพง ความเสี่ยงน้อยก็จ่ายเบี้ยถูก โดยคนอาชีพหนึ่ง อาจจะคิดเบี้ยถูกกว่าคนอีกอาชีพ หรือดูที่อายุที่ต่างกัน หรือดูที่จังหวัดที่อาศัยอยู่ คือ จะมีความหลากหลาย ซึ่งจะแฟร์ (เป็นธรรม) กับคนที่มีพฤติกรรมดี และช่วยให้เราควบคุมเรื่องฉ้อฉลในธุรกิจได้ดีขึ้น”

ถกรัฐหนุนรวมประกันค่ายเล็ก

“อานนท์” บอกด้วยว่า สมาคมจะเป็น “center” (ตัวกลาง) ในการสนับสนุนบริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็กที่ต้องการจะ “ควบรวมกิจการ” โดยจะเข้าไปคุยกับภาครัฐ ทั้งเรื่องภาษีและค่าใช้จ่ายในการควบรวม ซึ่งขณะนี้ได้มีการเปิดประชาพิจารณ์ (เฮียริ่ง) พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยที่มีเรื่องควบรวมไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยทาง คปภ.ได้รวบรวมข้อมูลส่งไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว

“เรามองว่าเรื่องภาษีและค่าใช้จ่ายต้องเปิดช่อง ถ้าอยากควบรวมก็ให้ง่าย ไม่ใช่ควบกันแล้วภาษีกินหมด”

ขณะเดียวกัน ก็จะประสานพูดคุยระหว่างบริษัท อาทิ บริษัทไหนที่ต้องการทำธุรกิจแบบ niche market (ตลาดเฉพาะ) ก็จะดูว่าบางอย่างสามารถทำร่วมกันได้หรือไม่ เช่น ราคาซ่อมกลาง ระบบรับแจ้งเคลมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทประกันขนาดเล็กมีข้อมูลอ้างอิงและทำธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็ก (เบี้ยรับรวมต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท) อยู่กว่า 20 บริษัท หรือสัดส่วนไม่ถึง 4% ของเบี้ยรวมทั้งระบบที่มีอยู่กว่า 2 แสนล้านบาท

“ในแง่ operation (ระบบปฏิบัติการ) หลาย ๆ อย่างน่าจะทำร่วมกันได้ เพราะในยุคอินชัวร์เทค การลงทุนโดยลำพังอาจเกินกำลัง ซึ่งบางบริษัทอยู่ได้ แต่บางบริษัทก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นสมาคมต้องช่วย เรียกมาคุยและร่วมกันทำ โดยตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ จะเริ่มให้มีการมาพูดคุยมากขึ้น”

สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยปีนี้ “อานนท์” ประเมินว่า เบี้ยรับรวมทั้งระบบน่าจะโต 6.2% ใกล้เคียงปีก่อน เพราะยอดขายรถยังดี และเห็นการทรานส์ฟอร์มไปสู่ “รถไฟฟ้า” ดังนั้น ตลาดรถยนต์ในไทยจึงไม่น่าห่วง ส่วนการบริโภคในประเทศ เมื่อดูภาคเกษตรที่ค่อย ๆ ดีขึ้น ทั้งข้าว ผลไม้ ยางพารา เหลือแต่ปาล์มน้ำมัน ถือว่าส่วนใหญ่ไปได้ดี รวมถึงมีนโยบายรัฐที่ให้นำไม้ยืนต้น ไม้หวงห้ามมาใช้เป็นหลักประกันได้ ถือว่าเปิดช่องให้ธุรกิจประกันเข้าไปคิดค้นผลิตภัณฑ์มาขายได้ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้มากขึ้น