สรรพสามิตแจงขึ้นภาษียาเส้นห่วงสุขภาพคนไทย ส่วนชะลอขึ้นภาษียาสูบเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว

พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต(แฟ้มภาพ)

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การปรับอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 พ.ค.) สืบเนื่องจากการปรับอัตราภาษียาสูบตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตสูงขึ้น ทำให้การบริโภคลดลง ในขณะที่การบริโภคยาเส้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบริโภคที่ลดลงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า ตลอดจนเกษตรกร ผู้ปลูกใบยาสูบ อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคยาเส้นที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น เนื่องจากยาเส้นดังกล่าวนำไปทำเป็นบุหรี่มวนเองซึ่งไม่มีก้นกรอง ทำให้ผู้บริโภครับสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

จึงเห็นควรให้มีการขยายเวลาในการบังคับใช้อัตราภาษีตามมูลค่า 20% และ 40% ออกไป เพื่อให้อุตสาหกรรมมีระยะเวลาในการปรับตัวอีกหนึ่งปี เพื่อการปรับตัวและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ การหาพืชทดแทน การหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมเพื่อการผลิตและส่งออก เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากการบริโภคบุหรี่ซิกาแรตที่ลดลงแล้ว ยังเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยหันมาบริโภคยาเส้นแทน (Switching Effect) ทั้งนี้ เนื่องจากมีราคาขายปลีกต่ำกว่ามาก ซึ่งการบริโภคทั้งบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นล้วนส่งผลต่อสุขภาพ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงได้ปรับอัตราภาษีตามปริมาณให้สะท้อนหลักสุขภาพในอัตราภาษีที่ใกล้เคียงกัน โดยปรับขึ้นอัตราภาษียาเส้นตามปริมาณเป็น 0.10 บาท/กรัม เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว และลดช่องว่างของราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตและราคายาเส้นให้มีความใกล้เคียงกันมากขึ้น จากเดิมประมาณกว่า 300 เท่า เหลือประมาณ 17 เท่า

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการ สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า หลัง พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่บังคับใช้ ทำให้เห็นการหันมาบริโภคยาเส้นเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมก่อนปี 2560 มีการเก็บภาษียาเส้นอยู่ที่ปีละ 12 ล้านกิโลกรัม แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 26 ล้านกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เนื่องจากราคายาเส้นต่ำมาก เพราะอัตราภาษีเดิมไม่ได้ปรับมาเกือบ 40 ปี กรมจึงเสนอ ครม.ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.1 บาทต่อกรัม ซึ่งจะทำให้ยาเส้นที่มีปริมาณ 20-30 กรัมต่อซอง ที่ขายอยู่ประมาณ 10 บาท/ซอง ปรับขึ้นเป็น 13 บาท

“อาจจะเห็นยาเส้น ถ้าขายอยู่ซองละ 5 บาท ก็จะขึ้นไปอีกประมาณ 2 บาท” นายณัฐกรกล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่า จะมีผู้ประกอบการที่ผลิตยาเส้นจำหน่ายที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นราว 20-30 โรงงาน ขณะที่กรมน่าจะเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2,000 ล้านบาทต่อปี จากที่ผ่านมาเก็บได้อยู่แค่กว่า 130 ล้านบาทต่อปี