กนง.คงดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ จุดเสี่ยงตั้งรัฐบาลใหม่ช้า-บาทผันผวน

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในการประชุมครั้งล่าสุด (8 พ.ค.)

โดย “ทิตนันท์ มัลลิกะมาส” เลขานุการ กนง.อธิบายเหตุผลการคงดอกเบี้ยครั้งนี้ ว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.8% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้ มีแนวโน้มใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่อยู่ที่ 1-4% โดยภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งยังสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

แต่มี “ปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน” ที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่ยังมีสูงในระยะข้างหน้า

“กนง.เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้นก่อน”

“ทิตนันท์” อธิบายว่า เศรษฐกิจที่ชะลอกว่าคาด มาจากการส่งออกที่ชะลอมากกว่าที่ประเมินไว้ ตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้แต่ได้รับแรงกดดันจาก “หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง” ส่วนการจ้างงานโดยรวม เริ่มทรงตัวและมีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก และก่อสร้าง ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เป็นผลมาจากความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ โดยปัจจัยด้านการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงต่อไป เช่นเดียวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในระดับสูง ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการในระยะเวลาอันใกล้นี้

“หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่าเดือน มิ.ย.ที่เราคาดไว้ คือ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ ได้แก่ งบประมาณปี 2563 ที่จำเป็นจะต้องเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา ซึ่งจะต้องไปดูถึงไส้ในของงบประมาณใหม่ว่าเป็นอย่างไร ขนาดเป็นอย่างไร และช่วงเวลา ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเมื่อไหร่ แล้วจะเบิกจ่ายงบประมาณได้เมื่อไหร่ ต้องติดตามทั้ง 2 ส่วนนี้ ว่าพัฒนาการจะเป็นอย่างไร ขนาด ช่วงเวลา และการขับเคลื่อน”

แม้จะเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่ “ทิตนันท์” ระบุว่า ประเทศไทยถือว่ามีเสถียรภาพการเงิน และ เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง รอบรับผลกระทบจากภายนอกได้ ไม่ว่าจะผลกระทบจากสงครามทางการค้า ที่ด้านหนึ่งจะกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินโลก ซึ่งช่วงไหนที่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิด risk on (ลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงขึ้น) และ risk off (ลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย) ขึ้นในตลาดการเงินโลก อย่างไรก็ดี ค่าเงินจะมีความผันผวน

“สงครามทางการค้าที่เกิดขึ้น อาจทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนได้ ผมคิดว่าประเด็นเรื่องค่าเงินนี้ การที่มีความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ บางเรื่องเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยาก ฉะนั้น เราจะต้องระมัดระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม”

ส่วนการที่มีบางประเทศเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น “ทิตนันท์” ยืนยันว่า ไทยไม่จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยตาม เพียงแต่ก็ต้องนำปัจจัยเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของประเทศอื่น ๆ ดังกล่าว มาคำนึงถึงด้วยในแง่สภาพแวดล้อม แต่การดำเนินนโยบายทางการเงิน จะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน

ด้านนักวิเคราะห์ค่าเงินธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2 ค่าเงินบาท มีทิศทางอ่อนค่าลง เนื่องจากสงครามการค้าที่กระทบการส่งออกของไทย ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศน้อยลง หรือดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2 ยังเป็นช่วงฤดูกาลจ่ายเงินปันผลที่นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินกลับประเทศด้วย หรือในช่วงระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.นี้ ซึ่งมีโอกาสที่เม็ดเงินจะไหลออกจากประเทศในช่วงดังกล่าวด้วย

ความผันผวนที่มีมากขึ้น คงต้องเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ว่าจะการทำนโยบายของภาครัฐ หรือแม้แต่นักลงทุนเอง