ค่าเงินบาทอ่อนค่า ภายหลังเปิดเผยตัวเลข GDP ต่ำกว่าที่คาดการณ์

ฝ่ายค้าเงินต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/5) ที่ระดับ 31.84/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 31.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ภายหลังวันศุกร์ที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.4 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 97.5 และระดับ 97.2 ในเดือนเมษายน นอกจากนี้ ยังมีการรเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเมษายน สู่ระดับ 112.1 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% และ 0.2% ในเดือนมีนาคม และกุมภาพันธ์ ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สภาพัฒน์) เปิดเผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 2.8% นับว่าชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 3.6% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.0% โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงนับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2557 ซึ่งจากตัวเลขที่ออกมาเป็นการสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.81-31.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.90/31.91บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (21/5) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1162/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 1.1163/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน ปรับตัวขึ้น 1.7% ในเดือนเมษายน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงต่ำกว่าเป้าของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ใกล้ แต่ไม่เกินระดับ 2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1140-1.1158 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1150/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (21/5) เปิดตลาดที่ระดับ 110.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/5) ที่ระดับ 109.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินเยน ทั้งค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.05-110.14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.11/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนเมษายน (21/5) รายงานการประชุม FOMC Meeting Minutes (23/5) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (21/5) ยอดขายบ้านใหม่เดือนเมษายน (21/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) (21/5) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเมษายน (24/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.30/-2.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.00/0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ